มูลนิธิเอเชียได้เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อง "ประชาธิปไตยและความขัดแย้งในภาคใต้ : การสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดยะลา นราธิวาส และ ปัตตานี" ในวันนี้
ผลการสำรวจดังกล่าวได้จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ระหว่างวันที่ 2 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยสุ่มตัวอย่างจากตัวแทนประชาชนจำนวน 750 คนที่อยู่ในช่วงอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งนับเป็นการสำรวจครั้งแรกที่เจาะจงเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานมูลนิธิเอเชีย กรุงเทพฯ
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 จัดทำขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับมุมมองและประสบการณ์ของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตลอดระยะเวลา 6 ปี
โดยเนื้อหาของการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในภาคใต้ ค่านิยมและสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ความสนใจและพลังขับเคลื่อนทางการเมือง อิทธิพลต่อทางเลือกในการลงคะแนนเสียง สาเหตุของความขัดแย้งในภาคใต้ แนวคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนและการกระจายอำนาจ และบทบาทในการกำหนดค่านิยม อัตลักษณ์ และความคาดหวังของคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ของวัฒนธรรมมลายู-ปัตตานีอันมีเอกลักษณ์โดดเด่น
จากการสำรวจพบว่าประชาชนในภาคใต้ตอนล่าง 46% คิดว่าประเทศกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเพียง 41% คิดว่ากำลังเดินผิดทาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนภาคใต้ตอนล่างเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับทิศทางของประเทศมากกว่าคนทั้งประเทศ ดังเห็นได้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,500 คน (ยกเว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิเอเชียในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งปรากฏว่า น้อยกว่าหนึ่งในสาม (31%) คิดว่าประเทศกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ขณะที่ 58% คิดว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่ผิด
เศรษฐกิจถือเป็นปัจจัยหลักของคนภาคใต้ตอนล่างในการประเมินทิศทางของประเทศ เหตุผลสำคัญของการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับทิศทางของประเทศคือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นคำตอบสูงถึง 47% ของผู้ตอบแบบสอบถามผู้ที่กล่าวว่าประเทศกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ในทำนองเดียวกัน เมื่อถามว่าปัญหาใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่คืออะไร การสำรวจระดับประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2552 พบว่า 60% ตอบว่าเศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่เพียง 23% ของประชาชนในภาคใต้ตอนล่างจากการสำรวจในปี พ.ศ. 2553 มองที่ปัญหาเศรษฐกิจ และอีก 20% ตอบว่าความขัดแย้งในภาคใต้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระดับประเทศ มีเพียง 3% เท่านั้นที่ตอบว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้
เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่งของการสำรวจครั้งนี้ มากกว่าหนึ่งในสาม (37%) ของประชาชนภาคใต้ตอนล่างเชื่อว่า สาเหตุหลักของความขัดแย้งในภาคใต้ คือความล้มเหลวของข้าราชการที่ไม่เข้าใจประชาชนในท้องถิ่น เพียง 17% เชื่อว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นประเด็นหลัก สองในสาม (65%) เชื่อว่า ความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาเป็นประเด็นที่มีสถานะเท่าเทียมกันในการอธิบายความขัดแย้ง ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคใต้ตอนล่าง (56%) เชื่อว่าการปกครองตนเองในท้องถิ่นจะช่วยยุติความขัดแย้งในภาคใต้ แนวทางนี้เป็นแนวทางเดียวกับที่ประชาชนระดับประเทศและภาคใต้ตอนล่างเลือกในฐานะรูปแบบการปกครองที่มีประสิทธิผล (69% ระดับประเทศ และ 67% ภาคใต้ตอนล่าง)
สำหรับการสำรวจความคิดเห็นระดับชาติจาก 26 จังหวัดครั้งใหม่ มีกำหนดเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งข้อค้นพบที่ได้จะให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของคนไทย
ทั้งนี้ มูลนิธิเอเชียเป็นผู้ออกแบบและกำกับการสำรวจในภาคใต้ตอนล่างครั้งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United State Agency for International Development) และดำเนินการโดย MIAdvisory กรุงเทพฯ มูลนิธิเอเชียมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในการจัดทำการสำรวจตามหลักระเบียบวิธีวิจัยเชิงประจักษ์ที่ซับซ้อนเพื่อใช้ในภูมิภาคเอเชียเพื่อที่จะระบุความห่วงใยและความต้องการของประชาชน ตรวจวัดการสนับสนุนของประชาชนเพื่อการริเริ่มการพัฒนา และเพื่อเปิดประเด็นการถกเถียงต่อนโยบายที่สำคัญและนำไปใช้ในการออกแบบและการปรับปรุงโครงการต่างๆ ของมูลนิธิฯ