นายกฯ มอบนโยบายกอ.รมน.ให้เน้นด้านความมั่นคงควบคู่ศก.-เน้นทำงานเชิงรุก

ข่าวการเมือง Wednesday December 29, 2010 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ในปี 53 ที่ผ่านมานั้น ยังปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในหลาย ๆ ด้านที่มีความรุนแรงเป็นพิเศษ เช่น ปัญหากรณีของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหายาเสพติด ปัญหาที่มีผลกระทบมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจของโลกและของภูมิภาค อาทิ ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์ความไม่สงบทำให้การทำงานของทุกฝ่ายต้องทำงานกันอย่างหนักและเหน็ดเหนื่อยเป็นพิเศษ แต่ท่ามกลางภาวะที่มีความขัดแย้งหรือมีภัยต่อความมั่นคงอย่างรุนแรงนั้น

"จากการเผชิญกับปัญหาท้าทายและภัยคุกคามต่างๆ ทำให้ในปัจจุบันประชาชนและสังคม มีความตระหนัก ถึงความสำคัญในเรื่องของความมั่นคงมากขึ้น โดยให้ความสนใจกับสถานการณ์ความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภายในประเทศหรือในต่างประเทศหรือในภูมิภาคหรือของโลกมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต เนื่องจากขณะนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ภัยคุกคามต่อความมั่นคง โดยเฉพาะภัยคุกคามสมัยใหม่มีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด การก่อการร้าย หรืออาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น" นายกฯ กล่าว

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศจะประสบความสำเร็จได้ยาก หากปัญหาด้านความมั่นคงในมิติต่าง ๆ ดังกล่าวไม่หมดไป แต่จะปรากฏขึ้นมาในรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่ในรูปแบบเดิม แต่กลับมากับปัญหาใหม่ เช่น ปัญหาที่เกี่ยวกับชายแดน ไปจนถึงความขัดแย้งทางการเมืองการปกครอง ปัญหาในเรื่องของวัฒนธรรม แรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ดังนั้น กระบวนการที่จะนำมาสู่ความมั่นคงได้ ต้องอาศัยกระบวนการการพัฒนาและการอำนวยความยุติธรรมเป็นหัวใจสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ยึดมั่นหลักการสร้างความสมานฉันท์และแนวทาง "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" เป็นแนวทางหลักซึ่งได้นำมาสู่การคลี่คลายสถานการณ์ได้ในหลายพื้นที่ และทำให้ในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้รับความร่วมมือจากมวลชน ประชาชนและชุมชนมากขึ้น ทำให้การแก้ไขปัญหาในเรื่องของความมั่นคงนั้น สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการทำงานในเรื่องของการพัฒนาหรือการอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จำเป็นจะต้องสานต่อและดำเนินการให้เกิดผล อย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องชัดเจนต่อไป

"การนำเอามาตรา 21 ของกฎหมายความมั่นคงมาใช้ โดยจะเริ่มต้นจาก 4 อำเภอ (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) ในจังหวัดสงขลา ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้แล้ว และพร้อมที่จะนำเสนอประกาศว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฐานความผิดที่จะนำกระบวนการดังกล่าวมาใช้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยคาดว่าประมาณเดือนมีนาคมจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในพื้นที่ดังกล่าวได้"

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในการอำนวยความยุติธรรมที่ได้เน้นย้ำในหลายโอกาสในการทำงานว่า จะต้องยึดหลักนิติรัฐ ให้ความเคารพ และใช้อำนาจตามกฎหมายบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ระมัดระวังไม่ให้มีการใช้อำนาจทางกฎหมายในทางที่ผิด และโดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการใช้อำนาจเพื่อหวังผลทางการเมือง หรือการหวังผลทางด้านอื่น ๆ ซึ่งไม่ชอบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติงานโดยการยึดหลักดังกล่าวประกอบกับการเคารพหลักปฏิบัติสากล หลักสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหมายในแต่ละขั้นตอนต้องทำด้วยความรอบคอบเคร่งครัดก็จะนำไปสู่เรื่องของประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ได้มอบนโยบายด้านความมั่นคงให้กับเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยแนวทางการทำงานที่สำคัญ คือ 1.ทุกหน่วยงานต้องคำนึงถึงมิติของความมั่นคง จะไปมองเพียงด้านหนึ่งใดไม่ได้ โดยในระบบการทำแผนจังหวัดนั้น ต่อจากนี้ไปจะต้องมีเรื่องของมิติความมั่นคงด้วย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวหรือด้านอื่น ๆ เท่านั้น

2.ต้องการให้การทำงานทางด้านความมั่นคงไปที่ต้นเหตุของปัญหามากขึ้น ซึ่งที่พยายามจะใช้คือการพัฒนาระบบกับความยุติธรรม 3.ต้องเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม โดยใช้ระบบอาสาสมัครดึงเครือข่ายของภาคประชาชนเข้ามา และ4.ต้องการให้ทำงานในเชิงรุก ไม่รอให้เป็นปัญหาความรุนแรงขึ้นมาก่อน แต่ต้องมีการดูแลเรื่องของการเฝ้าระวังและการป้องกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ