สื่อตั้งฉายาปี 53 สภา“หลังยาว ผลาญภาษี"/"ชัย"เฒ่าเก๋า-เจ๊ง/กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ดาวดับ

ข่าวการเมือง Wednesday December 29, 2010 18:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สื่อมวลชนประจำรัฐสภามีธรรมเนียมปฎิบัติมนการตั้งฉายา ผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิก และการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยฉายาที่ตั้งขึ้นได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้

*เหตุการณ์แห่งปี:เสื้อแดงบุกสภา

หลังจากที่กลุ่มคนเสื้อแดงปักหลังชุมนุมถาวรที่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2553 เป็นต้นมา จากนั้นวันที่ 7 เมษายน 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้มาชุมนุมที่หน้ารัฐสภามีข้อเรียกร้องให้รัฐบาล ยุบสภา จากนั้น นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำผู้ชุมนุม ได้ทำลายประตูและบุกเข้ามาในรัฐสภาโดยอ้างว่า มีการโยนระเบิดใส่ผู้ชุมนุม อย่างไรก็ดีเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกระป๋องแก๊สน้ำตา 2 กระป๋องที่ยังไม่ได้ถอดสลัก

อย่างไรก็ดี ผู้ชุมนุมได้บุกเข้ามาและพยายามจะเข้าตัวอาคารรัฐสภา 1 บริเวณชั้นลอยเพื่อหาตัวนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ทำให้บรรดาส.ส.รวมถึงรัฐมนตรีต่างพากันวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด แม้กระทั่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถึงกับต้องปีนกำแพงด้านหลังรัฐสภา โดยมีส.ส.คนใกล้ชิด คือ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ถืออาวุธสงครามอารักขา นำมาซึ่งการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในวันเดียวกัน ก่อนที่วันที่ 10 เมษายน ในช่วงบ่าย รัฐบาลได้ใช้มาตรการขอคืนพื้นที่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้า จนเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มคนเสื้อแดง มีผู้เสียชีวิต 26 ศพ บาดเจ็บ กว่าพันคน ทำให้ผู้ชุมนุมย้าย ไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์เพียงที่เดียว นำมาซึ่งการสลายการชุมนุมในเวลาต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม

*วาทะแห่งปี:“พูดเท็จซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนตัวเองเชื่อคำโกหกตัวเอง"

เป็นคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ตอบโต้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ระหว่างการตอบกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553

ทั้งนี้ในการอภิปรายนายจตุพรอ้างว่าการที่นายกฯพูดในที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ว่า ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมและต้องยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและสอดคล้องกับแผนบันไดสี่ขั้นของคณะมนตรี ความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงเพราะเป็นหน้าที่ของศาล พร้อมกับตอบโต้นายจตุพร

*สภาผู้แทนราษฎร:หลังยาว ผลาญภาษี

การทำงานของ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานไม่ว่า บทบาทของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา ปัญหาการแต่งตั้งที่ปรึกษา ส.ส.ที่อื้อฉาวขึ้น โดยเฉพาะการประชุมสภาฯ ทุกนัดต้องลุ้นระทึกว่า ส.ส.จะเข้าประชุม ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประชาชนเลือกมาหรือไม่ ซึ่งก็พบว่า สภาฯชุดนี้มีปัญหาองค์ประชุมล่มซ้ำซากเนื่องจาก ส.ส.ไม่ให้ความสำคัญกับ การทำหน้าที่ของตนเองเพราะติดงานนอก อีกฝ่ายก็เล่นเกมไม่เข้าร่วมประชุม

*วุฒิสภา:อัมพฤกษ์รับจ็อบ

การที่วุฒิสภาถูกแบ่งออกเป็น ส.ว.สรรหาและเลือกตั้ง ทำให้การทำงานเป็นลูกผสม ซึ่งตลอดป ที่ผ่านมาความขัดแย้งของสองกลุ่มยังปรากฏชัดเจน หลายครั้งยังเปิดศึกทำลายกันเอง ขณะที่การทำงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติกลั่นกรองกฎหมายและตรวจสอบรัฐบาล เป็นลักษณะงานประจำ และไม่ให้ความสำคัญกับการประชุม จนการประชุมเกือบล่มหลายครั้ง ขณะเดียวกันในการพิจารณาชี้ขาด เรื่องสำคัญ ส.ว.จำนวนหนึ่งทำหน้าที่รับใช้รัฐบาลและฝ่ายค้านตามเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ จนไม่มีอิสระในการลงมติ บทบาทการทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นเสือกระดาษไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวัง

*ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ชัย ชิดชอบ):เฒ่าเก๋า-เจ๊ง

ในภาวะการเมืองแบ่งขั้วรุนแรงระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ถือเป็นงานหนักของนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องควบคุมการประชุมสภาให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งนายชัยได้ใช้ประสบการณ์และความเก๋าในฐานะผู้อาวุโสสูงสุดของสภา จากลูกล่อลูกชน ผสมความเป็นลูกทุ่ง พูดจาโผงผางในบางครั้ง มีทั้งเบี่ยงเบนประเด็น สลับกับการใช้ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของนายชัย จนหลายครั้ง ส.ส.รุ่นลูกต้องยอมจำนนต่อความเก๋าเกมของนายชัย แต่บุคลิกของนายชัย กลับไม่ได้ช่วยคลี่คลายบรรยากาศความขัดแย้งในสภาลงได้ ตรงกันข้ามกลับซ้ำเติมให้อุณหภูมิในสภา เดือดระอุเต็มไปประท้วงวุ่นวายของสองฝ่าย

*ประธานวุฒิสภา (ประสพสุข บุญเดช):ประสพสึก

เป็นภาพสะท้อนถึงการทำงานของนายประสพสุข บุญเดช ที่หลายฝ่ายเห็นว่าไม่เป็นไปตามความคาดหวัง หลายครั้งที่ประธานวุฒิสภาน่าจะใช้บทบาทความเป็นประธานวุฒิสภาในการร่วมคลี่ คลายสถานการณ์วิกฤติของประเทศแต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวุฒิสภาเรียกประชุมด่วน ส.ว.ระดมความเห็นจนได้ข้อยุติเสนอต่อรัฐบาล แต่เมื่อเสนอไปกลับไ ม่ได้รับความใส่ใจจากรัฐบาล โดยที่ประธานวุฒิสภาก็ไม่ยอมดำเนินการใดๆ ขณะเดียวกันการบริหารงานในหน้าที่ก็ไม่ได้ปักหลักให้มั่นคง โอนอ่อนไปตามแรงกดดันของส.ว.กลุ่มต่างๆ ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาจึงมองว่าจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตของความ เป็นผู้พิพากษาที่น่าจะเป็นที่คาดหวังของสังคมได้ แต่ก็ไม่ได้ใช้จึงทำให้ชื่อเสียงที่อุตส่าห์สะสมมานานต้องสึกหรอไป เพราะความไม่มั่นคงในจุดยืน

*ดาวเด่น:"ชวลิต วิชยสุทธิ์" ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย

เนื่องจากนายชวลิตได้ปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สะท้อนผ่านกระทู้ถาม กระทู้สด การอภิปราย อย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช้คำพูดเสียดสี ปราศจากบุคลิกแข็งกร้าวและคำพูดก้าวร้าว เป็นแบบอย่างการทำหน้าที่ของส.ส.ท่ามกลางสภาพขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนัก ณ ขณะนี้ สื่อมวลชนเสียงส่วนใหญ่จึงโหวตให้นายชวลิต ดาวเด่นประจำปี 2553

*ดาวดับ:กลุ่ม 40 ส.ว.

กลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งประกอบด้วยส.ว.เลือกตั้ง อดีตมือตรวจสอบภาคประชาชน ที่เป็นความหวังในการเข้ามาตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร อย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง อย่างไรก็ดี เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ผลงานถดถอยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปีสุดท้ายของวาระส.ว.สรรหา ไม่มีผลงานการตรวจสอบที่เป็นรูปธรรม แต่กลับมีการส่งเอสเอ็มเอสแจ้งสมาชิกไม่ให้เข้าร่วมประชุมกรณีที่วุฒิสภานัดประชุมด่วนเพื่อหาทางออกให้ประเทศกรณีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อช่วงเดือยเมษายน-พฤษภาคม และเพิกเฉยที่จะตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างจริงจังหลังจากมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 ราย ผิดกับกรณีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองหน้ารัฐสภาเมื่อปี 51 นอกจากนี้ บางรายยังมีการใช้ตำแหน่งโอบอุ้มคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา กรณีรักษาการผู้ว่าการสตง. รวมถึงการไม่มีผลงานตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เหมือน ที่เคยประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มไว้

*คู่กัดแห่งปี:อภิวันท์ VS บุญยอด

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. ในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โดยที่มาเนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่ พ.อ.อภิวันท์ ขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายบุญยอดจะลุกขึ้นประท้วงและอภิปรายโจมตีการทำหน้าที่ประธานของ พ.อ.อภิวันท์ แทบทุกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าพ.อ.อภิวันท์ เคยขึ้นเวทีคนเสื้อแดงและมีข้อหาบุกรุกหน้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ จึงเรียกร้องให้แสดงจริยธรรมด้วยการลาออกตามม ด้วยการแถลงข่าวขับไล่อีกนับ ครั้งไม่ถ้วน

โดยครั้งหนึ่งในการไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 นายบุญยอด ลุกขึ้นประท้วงการอภิปรายของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำกลุ่ม นปช. แต่พ.อ.อภิวันท์ วินิจฉัยว่านายจตุพร มีเอกสิทธิ์ส.ส. สร้างความไม่พอใจให้นายบุญยอดและโยงความสัมพันธ์แกนนำเสื้อแดงมาถึง พ.อ.อภิวันท์ จนเกิดความปั่นป่วน สุดท้ายพ.อ.อภิวันท์ ได้ใช้อำนาจประธานที่ประชุมเชิญนายบุญยอดออกจากห้องประชุมด้วยเหตุผลเพื่อ รักษาความสงบเรียบร้อย

*คนดีศรีสภา:ทิวา เงินยวง

เป็นของ “อาจารย์ทิวา เงินยวง"ผู้ทำหน้าที่ตัวแทนของปวงชน และส.ส. เขต 6 กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ตราบลมหายใจสุดท้าย แม้ช่วงป่วยเป็นโรคมะเร็งร้ายคุกคาม ในยุค ส.ส.ชอบกระโดดร่ม หรือบางช่วงมีมวลชนเสื้อแดงมาปิดล้อมสภา ก็ไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณนักการเมืองมืออาชีพถดถอยลง ยังเดินทางมาร่วมประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งในช่วงวิกฤติการเมืองแตกแยกทางความคิดลุกลามเข้ามาในสภา ก็ไม่ได้กระทบต่อการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ท่านวางตัวได้เหมาะสม ไม่เล่นเกมการเมือง ใช้เหตุผลอภิปรายในสภาอย่างมีสติ ไม่ใช่อารมณ์ จนเป็นที่เคารพของส.ส.ต่างพรรค ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงแบบอย่างที่ดีของนักการเมืองระดับชาติที่ควรเดินตาม

*ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

เป็นปีที่ 2 ที่ไม่มีการตั้งฉายา เนื่องจากพรรคเพื่อไทยยังคงไม่ตั้งหัวหน้าพรรคจากบุคคลที่เป็นส.ส.อยู่ในสภา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ