นายกรัฐมนตรีสั่งคลังเร่งดูแลการรักษาพยาบาลให้ลูกจ้างประจำที่ยังมีปัญหา

ข่าวการเมือง Tuesday January 4, 2011 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังนายชินภัทร ปัญยารชุน ประธานชมรมเจ้าหน้าที่ของรัฐแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบเพื่อขอบคุณนายกรัฐมนตรีกรณีคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลังเพิ่มเติมเงินบำเหน็จตกทอด 15 เท่าของผู้รับบำเหน็จรายเดือน

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับปรุงสวัสดิการสิทธิประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มมาโดยตลอด ซึ่งตรงนี้ก็รวมไปถึงในส่วนของลูกจ้างประจำของส่วนราชการด้วย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ามีบุคลากรภาครัฐที่มีสถานะหลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นคิดว่า 2 ปีที่ผ่านมาคงทำให้ทุกคนได้เห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจในการที่จะขยายสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะยังคงมีประเด็นที่ทุกคนหรือแม้กระทั่งกลุ่มอื่น ๆ ยังมองเห็นว่าน่าจะสามารถที่จะปรับปรุงได้อีก ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดที่ได้ยื่นมานั้นก็จะได้มอบให้หน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในเรื่องต่าง ๆ ต่อไป

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอธิบายถึงประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องของการปรับเงินเดือนว่า การขึ้นเงินเดือนหรือการปรับเงินเดือน ตามกฎหมายของเราทำได้ 2 วิธี โดยวิธีที่แรก คือกรณีที่ต้องการจะปรับโครงสร้างเงินเดือนก็ต้องทำบัญชีกันใหม่ ซึ่งตรงนี้ต้องทำเป็นกฎหมาย และเมื่อทำเป็นกฎหมายก็จะต้องใช้ระยะเวลานานเพราะต้องผ่านสภาฯ เพราะฉะนั้นการที่มีการเสนอว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่บางระดับจะมีการปรับ 5% หรือบางระดับปรับมากกว่า 5% นั้น ถ้าจะดำเนินการดังกล่าวจะต้องทำเป็นกฎหมาย

และอีกวิธีหนึ่งคือ เป็นการปรับตามค่าครองชีพ ความหมายคือโครงสร้างเงินเดือนไม่เปลี่ยน แต่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ตรงนี้รัฐบาลถือว่าทุกคนต้องได้ปรับเพื่อชดเชยกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งการปรับเงินเดือนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 ก็คือกรณีนี้ โดยเมื่อทาง ก.พ. คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติได้มีการพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรที่จะปรับขึ้น 5% เพื่อชดเชยกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นก็จะเป็นเพียงการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องทำเป็นกฎหมายเข้าสภาฯเช่นกรณีแรก

อย่างไรก็ตาม ยินที่จะรับข้อเสนอที่เสนอมาไปพิจารณาและประเมินเพื่อดูในเรื่องของภาระต่าง ๆ ของทางราชการ ทั้งนี้ในส่วนของเรื่องการรักษาพยาบาลที่ยังมีปัญหานั้นรัฐบาลก็ได้มีความพยายามในการที่จะเข้าไปปรับและดูแลแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการประเมินเรื่องดังกล่าวอยู่ในเรื่องของรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ส่วนการร่นระยะเวลาต่าง ๆ ก็จะขอนำไปพิจารณาดูว่าจำนวนคนมีเท่าไร และจะเป็นภาระต่องบประมาณเท่าไร ซึ่งตรงนี้จะมอบให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องนี้ และหากมีความคืบหน้าอะไรก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเหมือนเช่นที่ผ่านมาที่ได้มีการค่อย ๆ ปรับในแต่ละเรื่องไปโดยลำดับ ซึ่งขอให้เข้าใจตรงกันว่ารัฐบาลได้พยายามดูแลอย่างดีที่สุดแต่จะต้องมีการพิจารณาควบคู่ไปกับเรื่องปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบหรืองบประมาณด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ