นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศรายละเอียดโครงการเร่งรัฐปฏิบัติการด่วนเพื่อคนไทย หรือที่เคยเรียกว่าประชาวิวัฒน์ ในรายการเชื่อมั่นกับนายกฯ โดยนายกฯ มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน คลอบคลุมหลายๆด้าน ดังนี้
เรื่องการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การลดค่าน้ำ ค่าไฟ การเข้าถึงสินเชื่อ และ เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นายก ชี้แจงด้วยว่า 9 มาตรการที่ประกาศ ไม่ใช่ทุ่มเงินลดแลกแจกแถม แต่แก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง ใช้งบ 2 พันล้าน แต่ได้ประโยชน์ 2 หมื่นล้าน
สำหรับของขวัญชิ้นแรกรัฐบาล กำลังจะมีการปรับในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยจะให้มีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนสามารถสมทบเงินนะครับ ไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน แล้วก็สามารถเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมได้ เราจะเปิดทางเลือกครับ มีทั้งที่เป็นการสมทบเงิน ทั้งหมดนี้รวมทั้งในส่วนของรัฐบาลด้วย 100 บาทหรือ 150 บาทต่อเดือน แล้วก็จะได้สิทธิประโยชน์ในเรื่องของการชดเชยรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ถ้าในกรณีที่จ่าย 70 รัฐบาลสมทบ 30 ก็จะได้ 3 เรื่องนี้ ถ้าเป็นกรณีที่จ่าย 100 รัฐบาลสมทบ 50 ก็จะได้สิทธิในเรื่องของบำเหน็จชราภาพด้วย ขณะเดียวกันครับก็ได้มีการประสานงานเรียบร้อยกับคนที่กำลังทำกฎหมายกองทุนเงินออมแห่งชาติ ว่าการเข้ามาสู่ระบบประกันสังคมแบบใหม่ตรงนี้ ไม่ตัดสิทธิ์สำหรับพี่น้องประชาชนที่สนใจจะเข้าไปอยู่ในกองทุนเงินออมแห่งชาติ ซึ่งก็หมายความว่าเรากำลังเปิดโอกาสให้มีระบบการออมและสวัสดิการทางเลือก สำหรับพี่น้องประชาชนในแรงงานนอกระบบทั้งหมด นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมาก สามารถเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเป็นแนวทางของการที่จะพัฒนาไปสู่ระบบสวัสดิการของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
ชิ้นที่ 2 การเข้าถึงสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษให้กับแท็กซี่ และ หาบเร่แผงลอย นายกฯเชื่อจะเป็นลูกค้าดีของสถาบันการเงิน เพราะมีรายได้ชัดเจน
ชิ้นที่ 3 ขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์ รับจ้าง จัดทำบัตร ให้เบอร์เสื้อวินจยย. แจกหมวกนิรภัย,ปรับปรุงวิน การทำบัตรจะนำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการ
ชิ้นที่ 4 เพิ่มจุดผ่อนปรนให้หาบเร่แผงลอย หวังลดรายจ่ายนอกระบบ และ จะจัดโซนการค้าให้เป็นระบบระเบียบ แต่จะไม่กระทบผู้ใช้ทางเท้า
ชิ้นที่ 5 นำเงินกองทุนน้ำมัน ตรึงราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง แต่จะเลิกอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน สามารถใช้ก๊าซหุงต้มในราคาที่เป็นธรรม เพราะเราถือว่าก๊าซธรรมชาติก็เป็นทรัพยากรของคนทั้งประเทศ แต่เมื่อไปตรึงราคากดราคาให้ต่ำนี้ก็ไปจูงใจให้เกิดการเติบโตในการใช้ LPG ในภาคอุตสาหกรรม ตรงนี้ก็จึงทำให้จำเป็นที่จะต้องมีการนำเข้า LPG มีการไปชดเชยเรื่องของราคาที่เป็นส่วนต่างระหว่าง LPG ที่นำเข้า กับราคาที่ถูกตรึงเอาไว้ในประเทศ ขณะเดียวกันในส่วนของโรงกลั่นก็ไม่มีแรงจูงใจในการที่จะเอาก๊าซตัวนี้ออกมาให้กับพี่น้องไปใช้ในอุตสาหกรรม ไปใช้กันเอง ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ก็ได้มีการปรับแรงจูงใจไปส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่มาตรการที่เราได้ข้อสรุปในครั้งนี้ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 อย่างเต็มรูปแบบเป็นต้นไปนี้ คือว่าเราจะเลิกการอุดหนุนเรื่องของ LPG สำหรับภาคอุตสาหกรรม หมายความว่าในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนั้น ก็ควรจะได้ใช้ LPG ในราคาที่เป็นราคาตลาดครับ แต่ในส่วนของภาคครัวเรือนภาคขนส่งนั้นเราจะตรึงราคา LPG ไว้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันสำหรับบางอุตสาหกรรม เราก็จะไปใช้เวลาจากช่วงนี้ไปจนถึงช่วงเดือนกรกฎาคมครับ ในการไปดูแลช่วยเหลือให้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่น หรือปรับปรุงเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับอุตสาหกรรมเหล่านั้น
ชิ้นที่ 6 การดำเนินการต่อเนื่องจากเรื่องของการใช้ไฟฟ้าฟรีในปัจจุบันสำหรับ 9.1 ล้านครัวเรือนของประเทศไทย 8.5 ล้านอยู่ในชนบทครับ 600,000 ครัวเรือนอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยจะทำให้ไฟฟ้าสำหรับพี่น้องประชาชนที่ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วยนั้นฟรีนั้นเป็นแบบถาวรครับ แต่การทำแบบถาวรนี้จะเปลี่ยนแปลงคือต่อไปจะไม่ใช้เงินภาษีอารหรือไม่ใช้เงินงบประมาณด้วยซ้ำ สิ่งที่เราจะทำก็คือไปปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม เพราะเราได้ไปดูแล้วว่าในหลายต่อหลายประเทศแม้แต่ในประเทศในอาเซียนด้วยกัน โครงสร้างของค่าไฟเขาจะเก็บเงินจากคนที่ใช้ไฟมากในอัตราที่สูงกว่าค่อนข้างมาก ในขณะที่โครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นค่อนข้างที่จะอยู่ในแนวราบ คือจะใช้มากใช้น้อยก็จะเก็บอยู่ในอัตราซึ่งไม่แตกต่างกันมากนัก พอเราไปปรับโครงสร้างตรงนี้ ผู้ที่ใช้ไฟเยอะ ๆ ซึ่งพูดจริง ๆ แล้วคนเหล่านี้ก็คือคนที่ทำให้เราต้องเอาเงินไปลงทุนในเรื่องของการจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาค่อนข้างมากนี้ ก็จะเป็นผู้ที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อเอาเงินในส่วนนั้นมาช่วยให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้ไฟน้อย แต่ว่าเราได้คำนวณดูแล้วนะครับโดยเฉพาะกับเรื่องของแนวโน้มของค่าเอฟทีที่จะอยู่ในเดือนพฤษภาคมนี้
"ผมมั่นใจว่าแม้แต่พี่น้องหรืออุตสาหกรรมที่ใช้ไฟในจำนวนมากก็จะไม่ได้จ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการลดลงค่าเอฟทีในรอบต่อไป แต่ว่าทั้งหมดนี้ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนคนยากคนจนสามารถใช้ไฟฟรีอย่างถาวร โดยไม่เป็นภาระกับงบประมาณหรือพี่น้องประชาชนที่เสียภาษีอากร"
ชิ้นที่ 7 หาทางลดต้นทุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะอาหารสัตว์ และ พ่อพันธ์แม่พันธุ์ เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาหาร ไม่ว่าจะเป็นไก่ ไม่ว่าจะเป็นหมู ไม่ว่าจะเป็นไข่ อาจจะมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ต้นทุนตรงนี้ที่เป็นปัญหาก็เพราะว่าสำหรับพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็กรายน้อยรายย่อย ไม่สามารถที่จะเข้าถึงปัจจัยการผลิตเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และอำนาจต่อรองก็จะน้อยกว่า เราก็จะใช้แนวทางของการดูแลในเรื่องของการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้า วิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงต้นทุนในส่วนต่าง ๆ ในองค์ประกอบต่าง ๆ แล้วก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
ชิ้นที่ 8 กรณีราคาไข่ไก่ จะนำร่องซื้อขายเป็นกิโลฯ เพื่อประหยัดค่าคัดแยกได้ถึง 50 สต.โดยเริ่มทดลองในเขตมีนบุรี
ชิ้นที่ 9 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตั้งเป้าลดให้ได้ 20 % ใน 6 เดือน เพิ่มกล้องวงจรปิด-บุคลากร บูรณาการทำงาน
สำหรับ ของขวัญทั้ง 9 ที่นายกฯประกาศ จะเสนอครม.11 ม.ค. และ จะตั้งคณะทำงานศึกษา เห็นผลตั้งแต่มค.ใช้งบ 2,000 กว่าล้านบาท