นายมานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้แจงถึงเงื่อนไขการเข้าร่วมชุมนุมของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.) ว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย แต่หากเนื้อหาการปราศรัยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีที่ศาลมีคำสั่งห้ามก็จะถือว่าเข้าข่ายผิดเงื่อนไขการประกันตัว แต่ทั้งนี้หากศาลพบความผิด ก็จะพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย
สำหรับใจความสำคัญของคำสั่งศาลในเงื่อนไขระบุว่า ห้ามนายจตุพรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุม หรือกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเกินกว่า 5 คน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล หรือทำการเผยแพร่ข่าวต่อบุคคล หรือต่อสาธารณะในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในทำนองเดียวกัน เว้นแต่เป็นการพูดหรืออภิปรายในรัฐสภาในฐานะเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้ติดตามพฤติกรรมและถอดเทปคำปราศรัยของนายจตุพรที่ขึ้นเวทีปราศรัยในการชุมนุมของนปช.เมื่อวานนี้ว่า การกระทำของนายจตุพรยังไม่เข้าข่ายเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและการดำเนินคดี ดีเอสไอจึงยังไม่ยื่นขอให้ศาลถอนประกันตัวนายจตุพร แต่จะยังคงติดตามพฤติกรรมของนายจตุพรต่อไป หากมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายกระทำผิดเงื่อนไขจึงจะยื่นขอถอนประกันตัว
"เงื่อนไขประกันตัวของนายจตุพรแตกต่างจากนายวีระ มุสิกพงษ์ ประธานนปช. โดยกรณีของนายวีระศาลสั่งห้ามเข้าร่วมการชุมนุมเด็ดขาด นายจตุพรจึงสามารถเข้าร่วมการชุมนุมและให้สัมภาษณ์ได้ ภายในขอบเขตที่ต้องไม่กระทบต่อการสอบสวนและการดำเนินคดี แม้แต่การอภิปรายในสภาฯซึ่งมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง แต่ไม่ควรใช้คำพูดหมิ่นเหม่ต่อการผิดเงื่อนไขประกันตัว " นายธาริตกล่าว