In Focusถอดสมการความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ "มิตร" หรือ "ศัตรู"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 19, 2011 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปี 2011 เป็นปีเริ่มต้นทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21... นับเป็นปีที่ 40 แห่งการฟื้นสัมพันธไมตรีระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา สองประเทศที่โลกพร้อมใจยกให้เป็นมหาอำนาจ... และยังถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ได้เดินทางเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะแขกของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งนักวิเคราะห์ถึงกับกล่าวว่า เป็นการเยือนสหรัฐโดยผู้นำจีนที่มีความสำคัญมากที่สุดในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว

ทั้งนี้ จีน ในฐานะแขกผู้มาเยือน และ สหรัฐ ในฐานะเจ้าบ้าน ต่างก็คาดหวังว่า เหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศกระชับและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ในเมื่อจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีคำถามค้างคาใจใครหลายคนว่า "ตกลงแล้ว จีนกับสหรัฐเป็นมิตรหรือศัตรูกันแน่?"

“การทูตปิงปอง" สู่การสถาปนาความสัมพันธ์การทูตจีน-สหรัฐ

นับย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ทีมกีฬาปิงปองของสหรัฐกลายเป็นคณะผู้แทนจากสหรัฐคณะแรกที่ได้รับคำเชิญให้เดินทางเยือนประเทศจีนในรอบกว่า 20 ปี การเดินทางเยือนจีนของทีมปิงปองสหรัฐในครั้งนั้นได้นำไปสู่การฟื้นฟูสัมพันธภาพจีน-สหรัฐให้กลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากที่สองประเทศได้ตัดความสัมพันธ์กันมายาวนานกว่าสองทศวรรษ อันเนื่องมาจากจีนไม่พอใจที่สหรัฐให้การสนับสนุนไต้หวันในฐานะประเทศเอกราช ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของจีนอย่างร้ายแรง

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่มาของคำว่า “การทูตปิงปอง" ("Pingpong Diplomacy") และนับเป็นการปูทางไปสู่การเดินทางเยือนจีนครั้งแรกของผู้นำสหรัฐในเวลาต่อมา

โดยในปีค.ศ. 1972 (พ.ศ.2515) ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน เป็นผู้นำสหรัฐคนแรกที่แหวกม่านไม้ไผ่เข้าไปจับไม้จับมือกับประธานเหมาเจ๋อตุงถึงแผ่นดินจีน และในการเยือนครั้งนั้น ประธานาธิบดีนิกสันและนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Communique) ซึ่งถือเป็นแถลงการณ์ร่วมฉบับแรกระหว่างสองประเทศ ซึ่งหลักใหญ่ใจความของแถลงการณ์ฉบับนี้ก็คือ สหรัฐอเมริกายอมรับในนโยบาย “จีนเดียว" (One China) หรือมีจีนประเทศเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม 1979 (พ.ศ.2522) จีนและสหรัฐก็ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ในระดับเอกอัครราชทูต โดยสหรัฐอเมริกาประกาศยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างสิ้นเชิง ยกเลิกสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน (U.S.-Taiwan Mutual Defense Treaty) และถอนทหารที่เหลือออกจากไต้หวัน

จากนั้นในวันที่ 28 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 1979 รองนายกรัฐมนตรี เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ นับเป็นผู้นำจีนคนแรกที่เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา และถือเป็นการเปิดบันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร

ถึงแม้จีนและสหรัฐได้ฟื้นฟูสัมพันธไมตรีมาครบ 40 ปี และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมากว่า 30 ปีแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีปัญหาแก้ไม่ตกที่ทำให้สองประเทศไม่สามารถวางตัวเป็น "เพื่อน" กันได้อย่างสนิทใจ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นไต้หวัน ที่เปรียบเสมือนเสี้ยนหนามทิ่มแทงใจให้จีนหวาดระแวงสหรัฐอยู่ไม่เว้นวาย หรือจะเป็นปัญหาโลกแตกอย่างเรื่องค่าเงินหยวน ช่องว่างทางการค้า การกีดกันทางการค้า ตลอดจนปัญหาระดับภูมิภาคอย่าง เกาหลีเหนือ ที่ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่

อย่างไรก็ดี การเดินทางเยือนสหรัฐของประธานาธิบดีหู จิ่นเทาในครั้งนี้ นับเป็นการจุดประกายให้จีนและสหรัฐ หรือแม้แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ต่างก็มีส่วนได้ส่วนเสียกับความสัมพันธ์ของสองประเทศมหาอำนาจนี้ไม่มากก็น้อย มีความหวังอีกครั้งว่า ความเป็นมิตรของสองประเทศจะโดดเด่นขึ้นมาแซงหน้าความเป็นศัตรู หรือ คู่แข่ง ได้อย่างชัดเจนในเร็ววัน ดังสะท้อนให้เห็นในนานาทัศนะ หลากหลายความเห็นดังต่อไปนี้

  • นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ กล่าวก่อนการเดินทางเยือนสหรัฐของปธน.หูไม่กี่วันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐกำลังอยู่ใน "ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ" พร้อมระบุว่า จีนต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับการเป็นมหาอำนาจของโลก แทนที่จะยึดนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของตนเองอยู่เพียงฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ดี นางคลินตันยังยืนยันว่า สหรัฐไม่ได้มองจีนเป็นภัยคุกคาม ระบุ "อนาคตของเราสอดประสานกัน อเมริกาที่รุ่งเรืองเป็นเรื่องดีสำหรับจีน และจีนที่เฟื่องฟูก็ดีสำหรับอเมริกาเช่นกัน"

  • เช่นเดียวกับวุฒิสมาชิกจอห์น เคอร์รี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐ ได้ออกมากล่าวว่า ความเจริญของจีนไม่ใช่ภัยคุกคามของสหรัฐ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลสหรัฐไม่ให้ปฏิบัติต่อจีนเหมือนเป็นศัตรู
  • ขณะที่นิตยสาร Economist ของอังกฤษ เตือนว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้จีนกลายเป็นศัตรูของสหรัฐก็คือการมองว่าจีนเป็นศัตรู
  • นายจอน ฮันทส์แมน เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีน กล่าวว่า การเยือนสหรัฐของปธน.หูนับเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์และน่าตื่นเต้นยินดีในความสัมพันธ์ของสองประเทศ
  • ด้านนายจาง เหยอสุ่ย เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี หู จิ่นเทา มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีให้ก้าวไปข้างหน้า

เขากล่าวว่า จีนและสหรัฐมีปัจจัยแวดล้อมในประเทศ ระบบสังคม ตลอดจนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ทั้งสองฝ่ายจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือ การให้ความเคารพผลประโยชน์และปัญหาหลักของแต่ละฝ่าย และแก้ไขแก้ประเด็นความขัดแย้งผ่านการเจรจา โดยตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายรวมมือกัน เจรจาหารือกัน เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จีนและสหรัฐก็จะสามารถสร้างสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างก็เป็นผู้ชนะได้

พร้อมกันนั้นยังได้เน้นย้ำว่า ความสัมพันธ์ที่กำลังพัฒนาไปอย่างมั่นคงของจีนและสหรัฐจะเป็นประโยชน์ ไม่เฉพาะกับประชาชนของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและโลกโดยส่วนรวม การเยือนสหรัฐของประธานาธิบดีหูจะสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์จีนและสหรัฐไปสู่ระดับที่สูงขึ้น

  • เดวิด แลมป์ตัน หัวหน้าภาควิชาจีนศึกษาของ School of Advanced International Studies มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐมีความตึงเครียดในระดับหนึ่ง

ศาสตราจารย์แลมป์ตันกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ 2 ประเทศแยกจากกันก็คือ ความระแวงในยุทธศาสตร์ของอีกฝ่าย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ความระแวงนั้นมากขึ้นใน 2 ประเทศ ดังนั้นการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ในระหว่างวันที่ 18 -21 มกราคมนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเปรียบเสมือนเป็นความตกลงกันว่าจีนพร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐในการทลายกำแพงปัญหาไม่ว่าปัญหานั้นจะง่ายหรือยากก็ตาม

เมื่อ 40 ปีก่อน ประธานาธิบดีนิกสันและประธานเหมาได้ทำให้โลกตกตะลึงมาแล้วด้วยการเปลี่ยนศัตรูคู่แข่งที่ยืนกันอยู่คนละขั้วให้หันหน้ามาจับมือกัน จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่เกินตัวไปนักหากจะหวังว่า ประธานาธิบดีโอบามาและประธานาธิบดีหูจะทำให้ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรนั้นแนบแน่นและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และโลกโดยรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ