นายกฯ ปรามทุกกลุ่มชุมนุมภายใต้กรอบกฎหมาย ยืนยันไม่ปล่อยล้อมทำเนียบ-สภา

ข่าวการเมือง Monday January 24, 2011 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ว่ากลุ่มใดจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร ก็จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแลและประสานงานเพื่อให้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และไม่กระทบกับสิทธิของผู้อื่น พร้อมทั้งย้ำว่าจะไม่ปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใดบุกเข้ามาหรือปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภาเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

"คุณจำลอง(ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย)บอกว่า 25-26 มกราฯ ไม่บุกเข้าทำเนียบฯแน่ แต่วันอื่นไม่รู้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เขาเข้าไม่ได้หรอกครับ เข้ามาก็ผิดกฎหมาย เรื่องนี้มีแนววินิจฉัยอยู่แล้วในเรื่องการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งต้องไม่ขัดขวางการเข้าออกหรือปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรงนี้ถือเป็แนวของศาลปกครองที่วินิจฉัยไว้แล้ว และต้องให้การทำงานเป็นปกติทั้งที่สภาและทำเนียบรัฐบาล"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีการหารือในแนวทางเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยไว้อยู่แล้ว ซึ่งคงจะมีการประสานกับทางแกนนำต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวย้ำว่า รัฐบาลคงไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของกลุ่มพันธมิตรฯได้ เพราะหากยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวกลับจะยิ่งทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย อาจจะถึงขั้นที่ต้องเสียดินแดนหรือเข้าสู่สภาวะการสู้รบได้

โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้ถอนตัวจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลก มองว่าอาจเป็นการเปิดทางสะดวกให้กัมพูชาสามารถเดินหน้าแผนขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ทันที และหากมีการยกเลิก MOU ก็จะทำให้ข้อตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาจะถูกลบล้างไปโดยทันที

"สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็คำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ของประชาชน คำนึงถึงความสงบเรียบร้อยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุว่า 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุมตัวยังเดินเข้าไปไม่ถึงเขตบ่อน้ำที่ทางองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ขุดไว้สมัยที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นค่ายอพยพนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากมีข้อกังวลรือมีประเด็นใดที่เห็นไม่ตรงกับรัฐบาล สามารถเสนอมายังรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลสามารถนำข้อมูลมอบให้ทางคณะกรรมการ JBC ปประกอบในการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาได้

"การที่มีการอ้างสิทธิว่าอยู่ในพื้นที่มา 30 ปี ก็ไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชาเพราะมี MOU ที่เป็นหลักประกัน ที่แม้ว่ากัมพูชาจะเข้ามาในพื้นที่ แต่ไม่สามารถอ้างสิทธิว่าเป็นดินแดนของกัมพูชาได้"นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังระบุว่า การที่ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจชี้แจงปัญหาไทย-กัมพูชาเมื่อคืนนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะมีปัญหากับใครและไม่เห็นว่าเรื่องนี้จำเป็นที่เราต้องมาทะเลาะกันเอง พร้อมทั้งปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นโฆษกให้กับสมเด็จฮุนเซ็น ตามที่นายประพันธ์ คูณมี กล่าวอ้าง เพราะที่ผ่านมาก็มีความเห็นต่างกับสมเด็จฮุนเซ็นมาโดยตลอด

ส่วนกรณีการถอนป้ายที่กัมพูชาโจมตีไทยนั้น ก็ได้รับคำยืนยันจาก ผบ.ทบ. เมื่อเที่ยงวันนี้ว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการและจะไม่ให้เกิดปัญหาเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ