ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,236 คน พบว่า ความเสี่ยงของคนกรุงเทพฯ ในภาพรวม มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา (6 เดือนที่แล้ว) พบว่า มีคะแนนความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 0.44 คะแนน โดยความเสี่ยงด้านการเมืองมีคะแนนสูงที่สุดคือ 7.45 คะแนน รองลงมาคือความเสี่ยงด้านค่าครองชีพและหนี้สิน (6.99 คะแนน) และความเสี่ยงด้านสุขภาพร่างกาย (6.73 คะแนน) ตามลำดับ
สิ่งที่คนกรุงเทพฯ เป็นห่วง และกังวลมากที่สุด ต่อกรณีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ พบว่าอันดับแรก ห่วงเรื่องความแตกแยกของคนไทยด้วยกัน (ร้อยละ 38.9) รองลงมา ห่วงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว (ร้อยละ 22.7) ห่วงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (ร้อยละ 12.0) ห่วงภาพลักษณ์ของประเทศ (ร้อยละ 10.7) ห่วงการเผชิญหน้าและการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ (ร้อยละ 8.3) และห่วงเรื่องการจราจรและการเดินทาง (ร้อยละ 7.4) ตามลำดับ
ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการการแก้ปัญหาสำคัญๆ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ พบว่า มีคะแนนความเชื่อมั่นเพียง 3.34 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีคะแนนความเชื่อมั่นน้อยที่สุดคือ 2.82 คะแนน รองลงมา ได้แก่ ปัญหาราคาสินค้าและค่าครองชีพ (3.31 คะแนน) ปัญหาการชุมนุมทางการเมือง (3.32 คะแนน) ปัญหาชายแดนไทย — กัมพูชา (3.42 คะแนน) และปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (3.82 คะแนน) ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในรายตัวชี้วัดทั้ง 10 ตัว พบว่า ความเสี่ยงด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว มีคะแนนความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสูงที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 1.14 คะแนน รองลงมาได้แก่ ความเสี่ยงด้านค่าครองชีพและหนี้สิน (0.98 คะแนน) และความเสี่ยงด้านการงานและอาชีพ (0.63 คะแนน) ตามลำดับ