In Focusโลกอาหรับสะเทือนเมื่อประชาชนลุกฮือ...จากตูนิเซียถึงอียิปต์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 2, 2011 13:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นายมูฮัมหมัด บูอาซีซี บัณฑิตตกงานชาวตูนิเซีย ได้เผาตัวเองตายเพื่อประท้วงที่ถูกตำรวจจับข้อหาเปิดแผงลอยขายผักผลไม้โดยไม่มีใบอนุญาต การตายของบูอาซีซีเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ประชาชนที่ต้องหาอยู่หากินอย่างยากลำบากเพราะปัญหาว่างงานและราคาอาหารที่พุ่งสูง ลุกฮือขึ้นมาต่อกรกับอำนาจรัฐที่กดขี่พวกเขามานาน

เมื่อประชาชนลุกขึ้นสู้เพื่อปากท้องของตนเอง ประธานาธิบดี ไซเน เอล อาบิดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย ก็พยายามขายผ้าเอาหน้ารอดด้วยการให้คำมั่นว่าจะสร้างงานหลายแสนตำแหน่ง ลดราคาอาหาร จัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม แต่เหตุจลาจลก็ยังลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนนายเบนอาลีต้องรับปากว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัยในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ผู้ประท้วงก็ยังเดินหน้าจัดการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อกดดันให้ผู้นำลงจากตำแหน่ง นายเบนอาลีตัดสินใจยุบสภาและประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น

ในที่สุดการประท้วงที่ยืดเยื้อนานเกือบ 1 เดือน และมีผู้สังเวยชีวิตอย่างน้อย 200 คนก็ประสบผล เมื่อประธานาธิบดี ไซเน เอล อบิดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย หลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา หลังครองอำนาจมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งการลงจากตำแหน่งของเขาถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำชาติอาหรับถูกบีบให้ลงจากตำแหน่งจากการประท้วงของภาคประชาชน

ปัจจุบันรัฐบาลแห่งชาติชุดใหม่ของตูนิเซียได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ประชาชนบางส่วนยังออกมาชุมนุมประท้วงต่อไป เพื่อเรียกร้องให้บุคคลผู้มีความสัมพันธ์กับระบอบอำนาจเก่าลาออกจากคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีมูฮัมหมัด กานนูชี ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ภายในเวลา 6 เดือน

แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในตูนิเซียยังคงสันสบและมีความไม่แน่นอน แต่ความสำเร็จในการขับไล่ผู้นำเผด็จการได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนในอีกหลายประเทศทั่วโลกอาหรับ ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน นั่นคือการต้องหาเลี้ยงชีพอย่างอยากลำบาก ต้องทนถูกกดขี่ข่มเหง ทนกับการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล รวมถึงต้องยอมให้อำนาจทางการเมืองและการเงินอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียว โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

การต่อสู้ของประชาชนชาวอียิปต์จึงเปิดฉากขึ้น...

เริ่มต้นจากการที่ชายชาวอียิปต์อายุประมาณ 50 ปี ก่อเหตุจุดไฟเผาตัวเองใกล้กับรัฐสภาในกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ เพื่อประท้วงรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค วัย 82 ปี ที่ปกครองประเทศมานานถึง 30 ปี แต่โชคดีที่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย วันต่อมาชายวัย 25 ปีซึ่งกำลังตกงานได้จุดไฟเผาตัวเองจนเสียชีวิตในเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ และได้มีการประท้วงในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีกหลายครั้งจนรัฐบาลอียิปต์ต้องเร่งปราบปราม

วันอังคารที่ 25 มกราคม ชาวอียิปต์ได้เผยแพร่ข้อความเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ให้ประชาชนหยุดงานประท้วงรัฐบาล โดยระบุว่าเป็นการปฏิวัติเพื่อต่อต้านความยากจน การทุจริต และการว่างงาน ผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนได้มารวมตัวกันตามนัดหมายที่กรุงไคโร และอีกหลายเมืองทั่วประเทศ อาทิ เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองสุเอซ เมืองแมนซูรา เมืองทันต้า เมืองอัสวาน และเมืองอัสสิอัต เป็นต้น โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องเงื่อนไข 4 ข้อต่อรัฐบาล ได้แก่ ขอให้ประธานาธิบดีมูบารัคลาออก,ให้รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรีอาห์หมัด มาห์มุด มูฮัมหมัด นาเซฟ ลาออก,ยุบสมัชชาประชาชนและกำหนดวันเลือกตั้ง รวมทั้งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการสนับสนุนของประชาชน

เหตุการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืนเมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวจากบริเวณจัตุรัสตอห์รีร์ไปยังรัฐสภา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมก็ตอบโต้ด้วยการขว้างปาก้อนหิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน นอกจากนั้นยังมีการระงับการใช้งานเว็บไซต์ทวิตเตอร์ในอียิปต์ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ชุมนุมใช้ทวิตเตอร์ปลุกระดมมวลชน

วันพุธที่ 26 มกราคม ทางการอียิปต์ที่กำลังเข้าตาจนประกาศสั่งห้ามชุมนุมประท้วงหรือจัดการเดินขบวน หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี แต่ประชาชนหลายพันคนยังออกมาชุมนุมประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศเป็นวันที่สอง ขณะที่การชุมนุมมีความรุนแรงมากขึ้น โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้ขว้างระเบิดขวดใส่ที่ทำการของรัฐจนเกิดเพลิงไหม้ มีการขว้างปาก้อนหิน เผายางรถยนต์ ทุบทำลายกระจกของร้านค้าในบริเวณใกล้เคียง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตา กระบอง และกระสุนยางสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมรวมเป็น 6 คน และมีผู้ถูกจับกุมอย้างน้อย 1,000 คน

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ออกมาวิงวอนให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ พร้อมเสนอแนะว่านี่คือโอกาสสำคัญที่รัฐบาลอียิปต์จะปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนชาวอียิปต์ ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 80 ล้านคนมีรายได้วันละไม่ถึง 60 บาท ขณะเดียวกันสื่อยักษ์ใหญ่อย่างหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ก็แสดงความเห็นใจประชาชนชาวอียิปต์ และแนะนำให้ประธานาธิบดีมูบารัคตั้งโต๊ะเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุม

ด้าน มูฮัมหมัด เอลบาราเด เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ออกมาระบุว่าประเทศอียิปต์ถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหากได้รับการร้องขอจากประชาชน และเขาจะบินจากกรุงเวียนนาเพื่อมาร่วมการชุมนุมในอียิปต์ ขณะเดียวกันขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ประกาศว่าจะเข้าร่วมเดินขบวนประท้วงในวันพรุ่งนี้

นอกจากนั้น กระแสชุมนุมเรียกร้องในลักษณะเช่นนี้ยังเกิดขึ้นที่เมืองหลวงของเยเมน โดยชาวเยเมนหลายพันคนได้ออกมาเดินขบวนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเละห์ ให้พ้นจากตำแหน่งหลังปกครองประเทศมายาวนานกว่า 30 ปี

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม ผู้ชุมนุมชาวอียิปต์ประกาศชุมนุมใหญ่หลังการประกอบพิธีทางศาสนาประจำวันศุกร์ โดยประชาชนนับหมื่นได้มารวมตัวแสดงจุดยืนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยของอียิปต์ขู่ว่าจะดำเนินมาตรการเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ประท้วงก็ตาม ขณะที่ทางการอียิปต์ได้ระงับบริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการปลุกระดมมวลชน นอกจากนั้นยังมีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายการชุมนุมในหลายพื้นที่ เหตุการณ์บานปลายเข้าสู่การจลาจล โดยฝูงชนที่โกรธแค้นแห่ศพผู้ที่ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต ขณะที่บางส่วนเผารถยนต์ อาคารราชการ และทุบทำลายสถานีตำรวจ จนประธานาธิบดีมูบารัคต้องประกาศเคอร์ฟิวในเมืองไคโร สุเอซ และ อเล็กซานเดรีย ก่อนที่จะขยายประกาศเคอร์ฟิวไปทั่วประเทศ

ด้านนายโรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ออกมาแสดงจุดยืนว่า สหรัฐสนับสนุนการปฏิรูปในตูนิเซียและอียิปต์ ทั้งในเรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของการปกครอง

ขณะเดียวกันกระแสการชุมนุมได้ลุกลามสู่จอร์แดน โดยประชาชนหลายพันคนอาศัยช่วงพิธีสวดในตอนเย็น ชุมนุมอย่างสงบในกรุงอัมมานและเมืองอื่นๆ เพื่อกดดันให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีซามีร์ ริฟาอิ ลาออก รวมทั้งให้มีการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค สั่งให้กองทัพนำรถถังออกมาจอดตามสถานที่สำคัญในกรุงไคโรเพื่อขู่ประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และประกาศว่าจะไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งตามคำเรียกร้องของผู้ประท้วง ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ ต่อสายตรงถึงประธานาธิบดีมูบารัค โดยเตือนว่าอย่าใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ในช่วงเที่ยงวันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีอียิปต์ตัดสินใจลาออกในการประชุมนัดฉุกเฉิน แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไป เนื่องจากประธานาธิบดีมูบารัคยังคงไม่ยอมลงจากตำแหน่ง

ขณะเดียวกันก็เกิดความสับสนวุ่นวายทั่วประเทศ โดยนักโทษหลายพันคนก่อการจลาจลและพากันหลบหนีออกจากเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มโจรบุกปล้นพิพิธภัณฑ์กรุงไคโร ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาทรัพย์สมบัติของฟาโรห์ตุตันคามุน ทำให้รูปปั้นและมัมมี่อายุกว่า 2,000 ปีบางส่วนได้รับความเสียหาย แต่ทั้งหมดถูกตำรวจและประชาชนช่วยกันจับไว้ได้ขณะพยายามหลบหนี

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม การชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัคยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้เสียชีวิตมีอย่างน้อย 100 คนในหลายเมืองทั่วประเทศ ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินเดีย และจีน เตือนพลเมืองไม่ให้เดินทางไปอียิปต์ในเวลานี้ ส่วนอีกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ แคนาดา ตุรกี อินเดีย และญี่ปุ่น ต่างส่งเครื่องบินไปรับพลเมืองของตนออกจากประเทศอียิปต์เป็นการด่วน

ขณะเดียวกัน มูฮัมหมัด เอลบาราเด อดีตผู้อำนวยการไอเออีเอ ได้เจรจาทำความตกกลงกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และประกาศว่าเขาได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายค้าน ให้เป็นผู้ทำการติดต่อกับฝ่ายทหาร และดำเนินการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติขึ้นมา

กระแสการชุมนุมในทำนองเดียวกันยังลุกลามไปยังซูดาน โดยนักศึกษาซูดานนัดหมายกันทางอินเทอร์เน็ตให้ออกมาชุมนุมเดินขบวนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ โดยที่มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งเมืองออมดุรมาน มีผู้ออกมาชุมนุมราว 1,000 คน และเกิดปะทะกับตำรวจปราบจลาจล ส่วนที่มหาวิทยาลัยอาห์ลิอาในเมืองเดียวกัน ก็มีนักศึกษาอีกราว 500 คน ออกมาชุมนุม

วันจันทร์ที่ 31 มกราคม กลุ่มผู้ชุนนุมในอียิปต์ปลุกระดมให้ประชาชนออกมาร่วมเดินขบวนประท้วงให้ถึง 1 ล้านคนในวันอังคาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 สัปดาห์ของการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัค พร้อมกับยืนยันว่าจะเดินหน้าประท้วงต่อไปโดยไม่มีกำหนด

ด้านประธานาธิบดีมูบารัคได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในช่วงบ่าย แต่ให้นายมาร์แชล ฮุสเซน รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และนายอาห์เหม็ด อาบูล เกห์ท รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศตามเดิม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชุมนุมที่ไม่ต้องการเห็นนักการเมืองหน้าเก่าในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ขณะเดียวกัน มูฮัมหมัด เอลบาราเด เสนอตัวเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านบางพรรคและผู้ชุมนุมบางส่วนไม่สนับสนุน โดยให้เหตุผลว่านายเอลบาราเดขาดประสบการณ์และใกล้ชิดสหรัฐมากเกินไป นอกจากนั้นยังมีตัวเลือกอีกจำนวนมากที่สามารถเป็นผู้นำได้ดีกว่าเอลบาราเด

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ หรือ “วันรวมพลังมวลชน 1 ล้านคน" ทางการอียิปต์พยายามสกัดมวลชนด้วยการสั่งระงับการบริการรถไฟทั่วประเทศ แต่ไร้ผล เมื่อคลื่นมหาชนชาวอียิปต์ยังคงมารวมตัวกันที่จัตุรัสตอห์รีร์ในกรุงไคโร รวมถึงที่เมืองอเล็กซานเดรีย และตามเมืองอื่นๆทั่วประเทศ นอกจากนั้นแกนนำยังกำหนดเส้นตายให้ประธานาธิบดีมูบารัคลงจากอำนาจภายในวันศุกร์นี้

พลังของมวลชนที่ไม่มีที่ท่าว่าจะหมดลงทำให้ประธานาธิบดีมูบารัคมีท่าทีโอนอ่อน โดยเขาแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติว่าจะไม่ลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยหน้าหลังหมดวาระในช่วงปลายปีนี้ ถึงกระนั้นผู้ชุมนุมก็ยังไม่พอใจ เนื่องจากต้องการให้ผู้นำอียิปต์ลงจากตำแหน่งในตอนนี้ และยืนยันว่าจะไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้นจนกว่านายมูบารัคจะลาออก

ล่าสุดมีรายงานว่าจำนวนผู้ประท้วงที่จัตุรัสตอห์รีร์ใจกลางกรุงไคโรมีนับล้านคนแล้ว โดยฝูงชนมีทั้งหญิง ชาย เด็ก และคนชรา ขณะที่เมืองอเล็กซานเดรียมีผู้ชุมนุมหลายหมื่นคน ส่วนเมืองไซไนมีผู้ชุมนุมหลายแสนคน

สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงในอียิปต์อย่างเป็นทางการยังคงอยู่ที่ 97 คน แต่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติประเมินว่า ยอดผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมน่าจะมีมากถึง 300 คน

สถานการณ์ทางการเมืองในอียิปต์กำลังขมวดปมเข้าไปทุกขณะ ประชาชนชาวอียิปต์จะได้มีความหวังกับชีวิตมากขึ้นเหมือนชาวตูนิเซียหรือไม่ เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปแบบไม่กะพริบตา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ