พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ยืนยันว่า เหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ไทยไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน แต่ยอมรับว่ามีโอกาสที่อาจจะเกิดปะทะกันในรอบใหม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งอาจจะเกิดจากความเครียดหรืออาจเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดจากความไม่ชัดเจนในเรื่องของเขตแดน แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ควรจะเริ่มต้นผ่านกระบวนการเจรจาของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC)
"เรายึดในหลักของกฎและกติกา ซึ่งเราไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน เป็นเพียงการยิงเพื่อหยุดการยิงจากฝ่ายกัมพูชา...โอกาสปะทะในรอบต่อๆ ไปยังมีได้ อาจจะด้วยความเครียดหรือปัญหาเรื้อรังในเรื่องของเขตแดน ซึ่งต้องเริ่มต้นแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการเจรจาจากคณะกรรมการ JBC" พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
พร้อมยอมรับว่าการปะทะที่เกิดขึ้นอาจทำให้พื้นที่ของปราสาทพระวิหารบางส่วนได้รับความเสียหายบ้าง ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่ทหารกัมพูชาเข้าไปตั้งจุดประจำการในบริเวณที่ใกล้เคียงกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งเมื่อทหารไทยตอบโต้กลับไปในจุดนั้นก็อาจจะสร้างความเสียหายบ้าง อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าทหารกัมพูชาไม่ได้เข้ามาบุกยึดปราสาทโดนตวล และปราสาทดังกล่าวยังอยู่ในความดูแลของประเทศไทย
ส่วนกรณีที่ทหารไทยถูกกัมพูชาจับกุมไป 1 นายจะต้องเข้าสู่กระบวนการศาลหรือไม่นั้น พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า กรณีนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่ตามข้อกฎหมายมีการระบุว่าหากมีทหารของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกจับกุมตัวไปในช่วงที่ปะทะกันนั้น ฝ่ายที่จับกุมไปสามารถควบคุมตัวอีกฝ่ายไว้ได้ในฐานะเชลยศึก ซึ่งการเจรจาเพื่อให้ปล่อยตัวสามารถทำได้ทันทีหากมีข้อตกลงร่วมกัน หรือต้องหยุดปะทะกันก่อนจึงจะปล่อยตัวได้
โฆษกกองทัพบก ยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพได้ดำเนินการอย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งกองทัพได้ยึดหลักตามข้อตกลงร่วมกัน และจะคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก
ขณะที่นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาว่า รัฐบาลไทยขอแสดงจุดยืนที่จะสงวนสิทธิในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับทวิภาคี แต่จะให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ(UN) หรือองค์กรระหว่างประเทศในการรับฟังข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ
"รัฐบาลขอแสดงจุดยืนว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือกับทางองค์การสหประชาชาติ แต่ขอสงวนสิทธิในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในระดับทวิภาคี" นายปณิธาน กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดปัญหาเมื่อช่วงเย็นวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ชี้แจงข้อมูลให้กับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวของกัมพูชาก่อน เพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านได้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ทุกคน และขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยรัฐบาลจะตั้งจุดประสานงาน 2 แห่ง คือ ที่กองทัพบกซึ่งจะมีการแถลงข่าวทุกครั้งที่มีการปะทะเกิดขึ้นผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 โดยมี พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เป็นผู้รับผิดชอบ และที่ทำเนียบรัฐบาลจะมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานงานกับสื่อ โดยให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นผู้ให้ข้อมูล
ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ทำหนังสือชี้แจงถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกรณีการออกแถลงการณ์ของสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยชี้แจงว่าเหตุปะทะดังกล่าวอาจจะมีเจตนาแอบแฝงที่รัฐบาลกัมพูชาต้องการยกระดับปัญหาให้เข้าสู่เวทีนานาชาติ เพราะขณะที่มีการเจรจาในระดับกองทัพทางกัมพูชาก็ยังมีการยิงเข้ามาในดินแดนของไทย
"เรายืนยันว่าการปะทะเมื่อวานนี้มีเจตนาแอบแฝง ซึ่งฝั่งกัมพูชาได้พยายามจะขยายผลเรื่องนี้สู่เวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากจังหวะเดียวกันกับที่มีการปะทะ กัมพูชาได้มีหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าหนังสือทำไมออกไปได้เร็วทั้งๆ ที่มีการปะทะกันอยู่" นายชวนนท์ กล่าว
นอกจากนี้ยังได้ทำหนังสือยืนยันต่อคณะมนตรีฯ ว่าไทยจะยึดมั่นตามหลักปฏิบัติของสหประชาชาติ และยึดมั่นการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และหากมีการรุกล้ำก็มีความจำเป็นต้องปฏิบัติการทางทหารเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ และ รมว.ต่างประเทศ ได้เชิญทูตของอาเซียน และสหประชาชาติมารับฟังคำชี้แจงถึงแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้วว่า เรายึดหลักความอดทนอดกลั้น และตอบโต้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น โดยไม่ได้มีเป้าหมายไปที่ประชาชนกัมพูชา ขณะเดียวกันได้นัดหมายให้มีการประชุม JBC ไทย-กัมพูชา ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.พ.นี้