(เพิ่มเติม) พธม.ชี้ไร้เหตุรุนแรงจนต้องใช้ พ.ร.บ.มั่นคง,เล็งฟ้องศาลปกครองสั่งยกเลิก

ข่าวการเมือง Tuesday February 8, 2011 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เตรียมส่งทีมกฎหมายยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันนี้ เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังอยู่ในกรอบของกฎหมายและไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้นสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่เข้าองค์ประกอบของเงื่อนไขที่จะนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้

"การชุมนุมของพันธมิตรฯ ยังไม่ได้ไปทำลายหรือสร้างความเสียหายที่จะไปเข้าเงื่อนไขการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ประชาชนที่อยู่ที่นี่ไม่มีอาวุธ จนถึงขณะนี้พันธมิตรฯ ก็ยังไม่ได้ประกาศหรือมีมติจะเคลื่อนไหวไปจุดใดเลย" นายปานเทพ กล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ อาจยื่นฟ้องดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ ครม. เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง หมวด 2 ในพื้นที่เขตดุสิต, แขวงโสมนัส แขวงบางขุนพรม เป็นเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9-23 ก.พ.เพื่อดูแลการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ

โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง อ้างจินตนาการเพื่อประกาศใช้กฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โดยขณะนี้เรายังไม่เคลื่อนไหวใดๆ จนกว่าจะมีมติจากคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน รัฐบาลจึงมาอ้างไม่ได้ อย่างไรก็ตามการที่พันธมิตรฯจะเคลื่อนไปที่ไหนนั้น รัฐบาลก็ไม่สามารถเอาผิดตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงได้ เพราะมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องดินแดนอธิปไตยตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ การประกาศกฎหมายที่จำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ใช้กฎหมายความมั่นคง เราจะฟ้องต่อศาลปกครองให้ทั้งคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบ

"จินตนาการของนายสุเทพสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสลายและยุติการชุมนุมของพันธมิตรฯ เสมือนกับรัฐบาลใช้ พ.ร.บ.มั่นคงเป็นกฎหมายเผด็จการเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชนในการชุมนุมและปกป้องประเทศ หากเป็นเช่นนี้จะไม่เป็นประชาธิปไตย กลายเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายเผด็จการพร่ำเพรื่อ" นายปานเทพ กล่าว

การที่ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ระบุถึงแนวนโยบายของกองทัพ 3 ประการ คือ 1.ไม่รุกรานใคร และต้องรักษาอธิปไตย 2.ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนตามแนวชายแดน และ 3.ยึดมั่นในกฎบัตรระหว่างประเทศ และ MOU 2543 นั้น นายปานเทพ กล่าวว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวไม่ข้อใดที่หยุดยั้งและทวงคืนดินแดนที่เป็นฐานทัพของทหารกัมพูชาใช้ทำร้ายประชาชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาไม่มีใครยึด MOU 2543 แล้ว มีการใช้อาวุธสงครามยิงปะทะกันอย่างต่อเนื่อง การที่รัฐบาลไทยยังยึด MOU 2543 ฝ่ายเดียวเช่นนี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะห้ามกองทัพใช้กำลัง ต้องใช้วิธีเจรจาเพียงอย่างเดียว ทำให้เราต้องตกอยู่ในวังวนเดิมที่ทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.เป็นต้นมา ที่ MOU 2543 เปิดทางให้กัมพูชามาตั้งฐานทัพในแดนไทย ทั้งที่วัดแก้วสิกขาฯ ภูมะเขือ รวมถึงปราสาทพระวิหาร

"รัฐบาลต้องประกาศต่อชาวโลกว่า บัดนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ซ่องสุมกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกัมพูชาเพื่อทำร้ายราษฎรไทย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดการกับพื้นที่ดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดเริ่มต้นด้วยการทำลายถนนเส้นทางลำเลียงอาวุธที่มาใช้ทำร้ายราษฎรไทย สิ่งนี้คือการแก้ปัญหาที่ตรงจุด รวมทั้งมาตรการปิดพรมแดนก็ยังไม่มีการนำมาใช้ จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าเพราะบุคคลระดับนโยบายเกรงจะสูญเสียประโยชน์ที่มีร่วมกับกัมพูชา" นายปานเทพ กล่าว

โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า การที่นายกฯฮุนเซนของกัมพูชาไม่พอใจที่ถูกกลุ่มพันธมิตรฯ ปราศรัยโจมตีนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกลุ่มพันธมิตรฯไม่ได้ก้มหัวให้กัมพูชาเหมือนรัฐบาลไทย และการที่มองว่ากลุ่มพันธมิตรฯ รู้เห็นกับรัฐบาลก็ไม่เป็นความจริง เพราะจะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลออก พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อหวังสกัดกั้นการชุมนุม และเอาใจนายฮุนเซน ส่วนที่กัมพูชาพยายามยกระดับปัญหาโดยให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นความพยายามที่ทำมาแล้วกว่า 50 ปีมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งในครั้งนี้ UN ก็ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะเป็นความขัดแย้งระดับทวิภาคี ไม่เกี่ยวกับระดับภูมิภาค สิ่งที่ UN มีส่วนร่วมได้มากที่สุด คือเข้าร่วมรับฟังการเจรจาเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใดๆ ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ