"กษิต"บินถก UNSC 14 ก.พ. แจงข้อเท็จจริงกรณีเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา

ข่าวการเมือง Wednesday February 9, 2011 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวในตอนหนึ่งของ งานสัมมนาวิชาการเรื่อง "ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเหตุการณ์ปกติจริงหรือ" จัดโดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ว่า ในวันที่ 14 ก.พ.จะเดินทางไปยังกรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เพื่อรายงานสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาต่อคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติ(UNSC) พร้อมทั้งหารือกับนายฮอร์นัม ฮง รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา โดยมีนายมาตี้ นาตาเลกาวา รมว.ต่างประเทศของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนร่วมด้วย

ทั้งนี้ ในการสนทนากับนายฮอร์นัม ฮง คงจะขอคำตอบว่า เราจะรักษาอาเซียนและรักษาความสัมพันธ์กันระหว่าง 2 ประเทศ โดยไทยมีทางต้องเลือกแนวทางสู้รบตามความเหมาะสมของสถานการณ์หรือจะต้องสู้รบฟาดฟันกันตลอดแนวชายแดน

"หากจะสู้รบกันก็ได้ และที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอย่ามาต่อกลอนกับกองทัพไทย เพราะหากยังเกเรก็มีแต่เจ็บลูกเดียว ยืนยันว่าลาวและเวียดนามไม่มีทางฮั้วกับกัมพูชาเพื่อสู้กับไทยแน่นอน เพราะทั้ง 2 ประเทศมีสัมพันธ์อันดีในทุกเรื่องกับไทย" นายกษิต กล่าว

รมว.ต่างประเทศ ยืนยันว่า ประเทศไทยเป็นฝ่ายถูกกระทำ วันนี้เหมือนมีเด็กเกเรอยู่ข้างบ้าน เราในฐานะผู้ใหญ่จะทำอย่างไร จะยังมีมิตรจิตมิตรใจต่อชาวกัมพูชาอยู่เช่นเดิมทั้งการทำทางรถไฟจากสระแก้วไปพนมเปญ รวมทั้งการอนุมัติกฎหมายให้คนกัมพูชาเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องทำวีซ่า

พร้อมมองว่า สาเหตุหลักที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิดฉากปะทะกับไทยเพราะต้องการปราสาทเขาพระวิหารและดินแดนโดยรอบ และมีต่างชาติเข้ามาบริหารมรดกโลก เพราะคิดว่ารัฐสภาไทยช้าทำเรื่องไม่เสร็จ

นายต่อพงษ์ ไชยสาสน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ รับหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จากคณะกรรมการร่วมเพื่อการเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างประชาชนกัมพูชา-ไทย (Joint Committee for Khmer&Thai Relationship Building — JC/KTPR)

โดยได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทั้ง 2ประเทศว่า 1.ขอให้ยุติการสู้รบพื้นที่ชายแดน และขอให้ยุติความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี และเคารพกฎหมาย 2.ขอให้เคารพสิทธิมนุษยชน 3.ขอให้รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการความสมานฉันท์ สันติภาพ และการพัฒนา และ 4.ให้ปฏิบัติตามนโยบายของอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ