นายกฯ หารือเลขาฯ UN ค้านขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร รอแก้ปัญหาเขตแดนก่อน

ข่าวการเมือง Wednesday February 9, 2011 18:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การโทรศัพท์สายตรงพูดคุยกับนายบันคีมุน เลขาธิการ UN นั้น ไทยได้แจ้งให้ทราบว่าคณะกรรมการมรดกโลกยังไม่ควรเดินหน้าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในขณะนี้ ซึ่งเลขาธิการ UN ได้รับว่าจะไปหารือกับคณะกรรมการมรดกโลกให้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา คือ เดินหน้าในกระบวนการจัดทำเขตแดนไทย-กัมพูชาให้มีความชัดเจนก่อน

"ผมได้ย้ำไปว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะพูดหลังจากเกิดเรื่อง ผมเคยคุยกับท่านตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่าปัญหามรดกโลกเป็นปัญหามากในการเพิ่มความตึงเครียดในพื้นที่ เพราะฉะนั้นยูเนสโก้ควรทบทวนท่าทีของตัวเอง เมื่อวานผมได้ย้ำไปอีกครั้ง ซึ่งท่านบอกว่าจะไปคุยกับยูเนสโก้ให้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศจะพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชาในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้น นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า UN คงจะไม่เข้ามาแทรกแซงในกระบวนการระหว่างไทย-กัมพูชา เพราะเมื่อวานนี้ได้เล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การปะทะกันให้เลขาธิการ UN ทราบ รวมถึงกลไลการเจรจาระดับทวิภาคีของ 2 ประเทศ รวมถึงการสนับสนุนจากสมาชิกในอาเซียน ซึ่งเชื่อว่า UN จะสนับสนุนในแนวทางนี้ เพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงเหตุการณ์ทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมาว่าประเทศไทยไม่มีความประสงค์จะใช้ความรุนแรงหรือรุกรานใคร แต่เนื่องจากมีการละเมิดอธิปไตยของไทย จึงมีความจำเป็นต้องปกป้องตัวเองและการตอบโต้ของไทยก็ทำเฉพาะในส่วนของทหารเท่านั้น ไม่ได้มุ่งโจมตีไปในส่วนของราษฎรกัมพูชา

กรณีความเสียหายของปราสาทพระวิหารนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า พร้อมจะส่งภาพถ่ายที่เป็นการแสดงหลักฐานว่ากัมพูชาได้นำทหารไปประจำอยู่ในจุดบริเวณปราสาทพระวิหาร

ส่วนการที่คณะกรรมการมรดกโลกจะเดินทางลงพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารในวันที่ 14 ก.พ.นั้น นายกรัฐมนตรี มองว่าไม่เหมาะสม เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มความตึงเครียดให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งเตือนเรื่องนี้ไปแล้ว และเชื่อว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะรับฟังเหตุผลจากไทย

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ปฏิเสธที่จะเจรจากับสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาโดยตรง โดยยืนยันว่าหากถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมและจำเป็นจริงก็พร้อมที่จะพูดคุย เพียงแต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังสามารถทำงานกันได้อยู่ พร้อมกันนี้จะเร่งคลี่คลายสถานการณ์บริเวณแนวชายแดน เพื่อจะให้คนไทยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในระหว่างการหารือกับเลขาธิการ UN นายกรัฐมนตรียังได้เล่าให้ฟังถึงกรณีที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ได้หารือกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา และนายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เพื่อหาแนวทางเจรจาทวิภาคี โดยความสนับสนุนของอาเซียน เพื่อให้ 2 ประเทศ มีเวทีหาทางออกร่วมกันโดยสันติ ซึ่งนายบัน คี มุน เห็นด้วยและรับที่จะไปคุยกับประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)ให้

นอกจากนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศได้จัดทีม นำโดยนายอัษฎา ชัยนาม ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา เพื่อไปทำความเข้าใจกับ UNESCO ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส เพื่อนำเอาเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปชี้แจงในวันที่ 11 ก.พ.ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ