ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายอิทธิพล เรืองวรบูรณ์ ส.ว.สรรหา สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหาอีกคนยังอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า นายอิทธิพลมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115(5) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของนายอิทธิพลต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 119 (4) นับแต่ที่นายยุทธนา เรืองวรบูรณ์ บุตรชายได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ต.ศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เพราะตำแหน่งนายกเทศมนตรีถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง
กรณีนี้สืบเนื่องจากประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ว.ของนายอิทธิพล ต้องสิ้นสุดลง หลังนายยุทธนา เรืองวรบูรณ์ บุตรชายดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ส่วนกรณีของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหานั้นเป็นกรณีประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหาและสมาชิกวุฒิสภาอีก 16 คน ที่เข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของนายไพบูลย์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 119(5) ประกอบมาตรา 266 กรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่ประธานที่ปรึกษาวุฒิสภาส่งความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้กับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เพื่อนำไปกล่าวอ้างในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปได้
โดยศาลพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า การดำเนินการส่งบันทึกความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ตามที่คุณหญิงจารุวรรณร้องขอ ไม่ใช่ความเห็นของนายไพบูลย์เพียงคนเดียว ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ดังนั้นจึงไม่ถือว่าการมีบันทึกความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายไปถึงคุณหญิงจารุวรรณเป็นการใช้สถานะวุฒิสภาเข้าไปก้าวกายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่จึงไม่เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของนายไพบูลย์ต้องสิ้นสุดลง