นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ในการศึกษาโครงสร้างของรัฐธรรมนูญและสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรม โดยเห็นควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) พิจารณาปรับโครงสร้างการเมืองและกระบวนการยุติธรรม
"การปรับโครงสร้างฝ่ายบริหารให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีคะแนนสูงสุดจากระบบบัญชีรายชื่อมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลไม่มีสิทธิยุบสภา และ ส.ส.ไม่มีสิทธิในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แต่ให้ใช้กระบวนการถอดถอนแทน" นายสมบัติ กล่าว
ขณะเดียวกัน ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ขณะที่องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งและวินิจฉัยเบื้องต้น และส่งศาลพิจารณาไต่สวนความผิดของผู้สมัคร ซึ่งเบื้องต้นข้อเสนอทั้งหมดจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีได้ราวปลายเดือน ก.พ.นี้
"ข้อเสนอโครงสร้างของรัฐรรมนูญใหม่ที่ไม่ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพราะเห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน" นายสมบัติ กล่าว
โดยโครงสร้างการเมืองและกระบวนการยุติธรรมที่คณะกรรมการฯ นำเสนอเป็นดังนี้
1.โครงสร้างของสถาบันการเมือง
1.1 ประมุขของประเทศ ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
1.2 ฝ่ายบริหาร
(1) หัวหน้าฝ่ายบริหาร ให้หัวหน้าของพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากระบบบัญชีรายชื่อมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
(2) ฝ่ายบริหารมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่กระทบกับการบริหารงานของรัฐบาลที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
1.3 ความเป็นอิสระระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ
(1) รัฐบาลไม่มีสิทธิยุบสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีสิทธิอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แต่สามารถอภิปรายทั่วไปได้ ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติยังคงอยู่เช่นเดิม เช่น การตรวจสอบโดยตัวแทนของประชาชนโดยคณะกรรมาธิการ และการตั้งกระทู้ถามในสภา เป็นต้น
(2) กระบวนการถอดถอนฝ่ายบริหารอาจเกิดจากกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา หรือกรณีที่เป็นความผิดทางกฎหมายที่ไม่ใช่คดีอาญา ข้อกล่าวหาดังกล่าวให้ ป.ป.ช.ไต่สวน ถ้ามีมูลให้ส่งเรื่องให้วุฒิสภาเพื่อพิจารณาถอดถอนต่อไป
1.4 สถาบันนิติบัญญัติ รัฐสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
1.5 สภาผู้แทนราษฎร
(1) การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง
(2) ฝ่ายบริหารและข้าราชการการเมืองต้องไม่เป็นสมาชิกรัฐสภา
(3) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ให้ใช้การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้เขตเลือกตั้ง 1 เขต เลือกสมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้ 1 คน และให้มีสมาชิกสภาผู้แทนฯ แบบบัญชีรายชื่อครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด
(4) สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ ตรากฎหมาย ควบคุมงบประมาณแผ่นดิน และตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
1.6 วุฒิสภา
(1) สมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งทางตรงโดยอาจแบ่งจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม จังหวัดขนาดใหญ่มีสมาชิกวุฒิสภา 3 คน จังหวัดขนาดกลาง 2 คน และจังหวัดขนาดเล็ก 1 คน โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง
(2) ให้วุฒิสภามีอำนาจเสนอร่างกฎหมาย ถอดถอนฝ่ายบริหารกรณีที่ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และการไต่สวนมูลเหตุของการถอดถอนในขั้นตอนของ ป.ป.ช. ก่อนเสนอวุฒิสภา ให้ดำเนินการภายในระยะเวลาไม่เกินสามสิบวัน เว้นแต่กรณีที่เป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อนอาจขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสองครั้งๆ ละไม่เกินสามสิบวัน
2.พรรคการเมือง
2.1 กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมืองมีความเป็นอิสระ การบริหารจัดการพรรคการเมืองและการดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองต้องสะท้อนหลักประชาธิปไตย
2.2 การเสนอนโยบายของพรรคการเมือง ควรมีรายละเอียดเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวเมื่อดำเนินการแล้วจะสามารถทำให้ประชาชน สังคม หรือประเทศได้ประโยชน์จากนโยบายนั้นอย่างไร
2.3 การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง รัฐต้องสนับสนุนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้าถึงประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน
2.4 ให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถบริจาคภาษีของตน โดยเปิดโอกาสด้วยความสมัครใจ ให้สนับสนุนพรรคการเมืองได้ไม่เกินร้อยละหนึ่งของภาษีที่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลนั้นจะต้องจ่ายให้รัฐ
3.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
3.1 ควรกำหนดให้มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพียง 3 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ส่วนองค์กรอื่นยังคงอยู่แต่ไม่จำเป็นต้องบัญญัติรายละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญ
3.2 องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา ควรประกอบด้วย ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายการเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายวิชาชีพ
3.3 กระบวนการสรรหา ควรมีการกำหนดให้ชัดเจนและอย่างน้อยจะต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
3.3.1 กำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาที่จะต้องนำประสบการณ์หรือผลงานมาเป็นพื้นฐานในการพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ
3.3.2 กระบวนการสรรหาจะต้องมีความโปร่งใส เปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหาได้
3.4 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจในการจัดการการเลือกตั้งและการวินิจฉัยเบื้องต้น การอุทธรณ์คำวินิจฉัยให้โต้แย้งไปยังศาลเลือกตั้ง โดยกำหนดให้มีศาลเลือกตั้งซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดและ/หรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้น การพิจารณาของศาลเลือกตั้งให้ใช้กระบวนการพิจารณาตามหลักไต่สวน โดยศาลจะต้องดำเนินการพิจารณาโดยเร่งด่วน
3.5 ปัจจุบันมีเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตเป็นจำนวนมากในขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่สามารถตรวจสอบไต่สวนเรื่องได้ทัน เห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุง ดังนี้
3.5.1 ในกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำทุจริตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นรายงานให้สำนักงาน ป.ป.ช.ทราบและดำเนินการตรวจสอบไต่สวน เมื่อสรุปผลได้แล้วให้รายงานผลไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป กรณีที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริต ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน สรุปผลเป็นประการใดให้แจ้งสำนักงาน ป.ป.ช. หากเป็นหัวหน้าส่วนราชการหรือรองหัวหน้าส่วนราชการถูกร้องเรียนให้ส่งเรื่องไปให้สำนักงาน ป.ป.ช. โดยให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบไต่สวน
3.5.2 ควรมีการกำหนดเงื่อนเวลาในการไต่สวนในเรื่องที่มีความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ
3.5.3 ให้ ป.ป.ช.สามารถเปิดเผยข้อมูลของข้าราชการ นักการเมืองและบุคคลสาธารณะได้ ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
3.5.4 ปรับปรุงกฎหมายให้ ป.ป.ช.มีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงรวมทั้งมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเพิ่มขึ้น
4.ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ การแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการ เช่น ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอชื่อต่อสมาชิกวุฒิสภาผ่านกระบวนการไต่สวนประวัติโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ
5.การกระจายอำนาจ
5.1 การแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรยกประเด็นเรื่องการแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ และเร่งกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกับกระบวนการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคควรทำหน้าที่หลักในการเป็นผู้กำหนดนโยบาย มาตรฐานทำงานและการบริการสาธารณะ กรอบแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ควรทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ หรือผู้จัดบริการสาธารณะเสียเอง ยกเว้นเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ หรือเรื่องที่เป็นเรื่องระดับชาติ เช่น การทหาร การทูต เป็นต้น
5.2 การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรปรับปรุงรูปแบบ โครงสร้าง รายได้ และจำนวนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น และลดจำนวนลงเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพในการบริหารงานของแต่ละองค์กร รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการจัดหารายได้และการบริหารงานภายในหน่วยงานของตนเอง (Home Rules) มากขึ้น
5.3 การปฏิรูประบบภาษี ควรปฏิรูประบบภาษีใหม่ทั้งระบบ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีที่มีฐานภาษีอยู่ในท้องถิ่น และสามารถจัดเก็บภาษีเหล่านั้นได้เองมากขึ้น ภาษีดังกล่าวควรมีจำนวนมากเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.4 การมีส่วนร่วมของประชาชน ควรส่งเสริมบทบาทของชุมชนและผู้นำชุมชนให้เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยทบทวนที่มาของสมาชิกสภาท้องถิ่นให้มีที่มาโดยวิธีการอื่น นอกเหนือจากการเลือกตั้ง เช่น วิธีการสรรหา หรือการขอฉันทานุมัติของประชาชน เป็นต้น
6.การปรับระบบกระบวนการยุติธรรม
6.1 ตำรวจ โครงสร้างตำรวจยังมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การจัดวางระบบอำนาจหน้าที่ของตำรวจยังไม่มีความเหมาะสม ยังขาดแคลนเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพเงินเดือน ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ที่ตำรวจได้รับไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และยังขาดการพัฒนาศักยภาพ เป็นผลให้ไม่สนองตอบต่อการให้บริการและการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน จึงมีข้อเสนอในการปฏิรูปองค์กร ดังนี้
(1) การแยกงานสอบสวนออกจากงานของตำรวจ ออกมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมโดยมีหลักการสอบสวนเช่นเดียวกับอัยการและศาล โดยกำหนดให้คดีอาญาแผ่นดินให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สำหรับคดีลหุโทษ และคดีที่ยอมความได้ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตำรวจและให้ตำรวจรับผิดชอบคดีอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน
(2) กระจายอำนาจตำรวจจากส่วนกลางสู่ระดับจังหวัด โดยมีคณะกรรมการบริหารงานตำรวจระดับจังหวัดโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยประชาชน อัยการ ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุมประพฤติ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานสามารถรับรู้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงและเป็นที่ยอมรับของประชาชน
(3) การเพิ่มบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจัดให้มีตำรวจอาสาสมัครให้มาช่วยเหลือการปฏิบัติงานของตำรวจ เปิดรับสมัครจากคนในท้องที่ รวมทั้งการเพิ่มจำนวนตำรวจและพนักงานสอบสวนหญิงในการทำงานเพื่อปฏิบัติงานในคดีเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรง เด็ก เยาวชน และการค้ามนุษย์
(4) การปรับเงินเดือนค่าตอบแทน และจัดหาทรัพยากรที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน โดยการปรับฐานเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ให้เหมาะสม
(5) การพัฒนาความรู้ความสามารถของตำรวจ โดยมีสถาบันทางวิชาการของตำรวจ(Police Academy) โดยรวมหน่วยทางการศึกษาของตำรวจทั้งหมดไว้เพียงหน่วยเดียว และยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตำรวจมีความรู้ความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายและทันต่อรูปแบบของอาชญากรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้วิทยาการของตำรวจได้มีการศึกษาเรียนรู้อย่างแพร่หลาย สมควรให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ สามารถเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาการตำรวจ และผู้จบหลักสูตรดังกล่าวสามารถเข้ารับการบรรจุ การเลื่อนตำแหน่งข้าราชการตำรวจได้
(6) กำหนดให้ตำรวจมีงบประมาณปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ โดยมิให้กำหนดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานรวมไว้ในเงินเพิ่มประจำตำแหน่ง และ/หรืองาน จัดให้มีกองทุนประเภทต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดให้รัฐอุดหนุนงบประมาณรายจ่ายให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ
6.2 อัยการ โครงสร้างอัยการในปัจจุบันเป็นเช่นเดียวกับตำรวจ คือ มีการรวมศูนย์อำนาจ อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการยังไม่มีความเหมาะสมในการอำนวยความยุติธรรม การเกิดผลประโยชน์ขัดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษาในรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอื่น จึงมีข้อเสนอในการปฏิรูปอัยการ ดังนี้
(1) ห้ามมิให้พนักงานอัยการไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ โดยไม่มีข้อยกเว้น
(2) ให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจเรียกชื่อว่า "คณะกรรมการอัยการพิเศษ" เป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจสำหรับแต่ละคดี
(3) ห้ามมิให้พนักงานอัยการไปดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ
(4) ให้การบริหารงานบุคคลของอัยการมีคณะกรรมการอัยการโดยมีโครงสร้างในแนวทางเดียวกับคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม โดยกำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นประธานกรรมการ และกำหนดให้มีตัวแทนของข้าราชการอัยการในแต่ละระดับชั้น (ยกเว้นข้าราชการอัยการชั้นหนึ่งและชั้นสอง) ทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอัยการ
(5) การให้คำปรึกษา ตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริการสาธารณะ หรือเกี่ยวกับโครงการที่มีวงเงินหรือทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป สำนักงานอัยการสูงสุดต้องพิจารณาในลักษณะเป็นองค์คณะ โดยจะต้องจัดตั้งเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแก่ ป.ป.ช. สตง. และรัฐสภา รวมทั้งจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อส ธารณชน
(6) ในคดีที่มีโทษอุกฉกรรจ์ กำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่สอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน เพื่อให้คำแนะนำและร่วมตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นเริ่มสอบสวน
6.3 ศาล การพิจารณาคดีของศาล นอกจากจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความยุติธรรม และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมด้วย จึงมีข้อเสนอในการปฏิรูปดังนี้
(1) กำหนดให้การพิจารณาคดีของศาล นอกจากจะต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงความยุติธรรมด้วย
(2) ปรับบทบาทการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา โดยให้ศาลอุทธรณ์สามารถสืบพยานเพิ่มเติมได้หากมีข้อสงสัยในข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และให้ศาลฎีการับฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายหรือเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
(3) กำหนดคุณสมบัติของผู้สอบผู้พิพากษา ต้องมีอายุ 30 ปี และให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายมาทำหน้าที่ผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ และให้ผู้ประกอบอาชีพอื่นมาทำหน้าที่ผู้พิพากษาสมทบ
(4) ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินงานของศาล โดยกำหนดอัตรา ไม่ต่ำกว่าร้อยละของงบประมาณรายจ่ายประจำปี