นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงค์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอแนวคิดให้พรรคที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดในระบบบัญชีรายชื่อได้จัดตั้งรัฐบาล และให้หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีว่า ข้อเสนอดังกล่าวเท่ากับว่าผู้จัดตั้งรัฐบาลจะไม่ใช่พรรคการเมืองที่มาจากเสียงข้างมาก
โดยมองว่าแนวคิดนี้น่าจะมีการตั้งธงมาก่อน สอดคล้องกับที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายเพื่อการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุก่อนหน้านี้
นายพร้อมพงศ์ เห็นว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวเหมือนเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่มีอำนาจ พยายามเขียนกติกาใหม่เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง มีแผนบันได 3 ขั้นเพื่อเอื้อต่อการเลือกตั้งคือ ประกอบด้วย 1.แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นระบบ ส.ส.เขต 375 คน และเพิ่ม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็น 125 คน 2.แก้สูตรให้พรรคการเมืองที่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นอันดับ 1 เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องสนใจระบบ ส.ส.เสียงข้างมาก และ 3.สร้างความมั่นคงให้รัฐบาล โดยเสนอให้มีการแก้อำนาจของฝ่ายบริหารให้เหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีสิทธิที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้ฝ่ายบริหารยังมีอำนาจยับยั้งกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติได้อีกด้วย
"แนวคิดดังกล่าวถือเป็นการถอยหลังเข้าคลองอย่างมาก เพราะการระบุว่า ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง จะทำให้การเมืองเกิดปัญหา ไร้ระเบียบวินัย เปิดโอกาสให้ ส.ส.ขายตัว มั่วตำแหน่ง ถือเป็นทัศนคติที่อันตราย ภาพรวมทั้งหมดเหมือนกับการนำระบบประธานาธิบดีมาใช้ ถ้ารัฐบาลบ้าจี้ยอมรับก็จะเป็นการฉีกวัฒนธรรมทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2475" โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุ พร้อมกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวนี้จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายแน่นอน จึงขอให้คณะกรรมการฯ ควรกลับไปทบทวนข้อเสนอใหม่อีกครั้ง
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นสอดคล้องกับโฆษกพรรคเพื่อไทย โดยรับไม่ได้กับข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ชุดนายสมบัติ ที่เสนอให้พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อเป็นอันดับ 1 เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และให้หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ตรงกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายเพื่อการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ พูดปูพื้นไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนกรณีที่เสนอห้ามไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็ถือยเป็นข้อเสนอที่เหลวไหล จะปล่อยให้มีเรื่องทุจริตอย่างไรก็ได้อย่างนั้นหรือ เป็นข้อเสนอที่ไม่มีประโยชน์ไม่มีหลักวิชาการเลย
"อยากฝากคนคิดเรื่องนี้และพรรคประชาธิปัตย์ ว่าอย่าเอาแต่คิดในมุมที่ตัวเองเป็นรัฐบาลตลอดชาติ ต้องคิดเผื่อตอนที่ตนเองเป็นฝ่ายค้านด้วย" นายจตุพร กล่าว