ในขณะที่หลายประเทศมีผู้นำหน้าใหม่สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาบริหารปกครองประเทศอย่างสม่ำเสมอ อาทิ สหรัฐอเมริกาที่จนถึงปัจจุบันนี้มีประธานาธิบดีปาเข้าไปถึง 44 คนแล้ว หรือญี่ปุ่นที่เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นว่าเล่นจนจำแทบไม่หวาดไม่ไหว โดยในช่วง 5 ปีที่มา ญี่ปุ่นมีนายกฯ เข้ารับตำแหน่งถึง 5 คนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี สำหรับในอีกหลายประเทศ การเปลี่ยนผู้นำไม่ใช่แค่เกิดขึ้นนานทีปีหน แต่เรียกว่านานทีหลายสิบปีหนน่าจะถูกกว่า ซึ่งอาจจะเป็นด้วยหลายเหตุผล เช่น ระบอบการปกครองที่เกื้อหนุนให้ครองอำนาจได้หลาย(ๆๆ)ปี หรืออาจเพราะครองใจประชาชนมาได้อย่างเหนียวแน่นยาวนาน หรืออาจเป็นเพราะหวงเก้าอี้ ชนิดที่ว่าไม่ไล่ไม่ไป หรือถึงไล่ก็ไม่ไป
คอลัมน์ In Focus ในสัปดาห์นี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จัก 10 ผู้นำ*ที่ครองตำแหน่งนานที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบันกันแบบย่อๆ ดังต่อไปนี้ (*หมายเหตุ: ไม่นับรวมพระราชวงศ์ และผู้นำที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว)
1. นายมูอัมมาร์ กัดดาฟี (Moammar Gadhafi)
ผู้นำลิเบีย ครองอำนาจมาแล้ว 41 ปี 5 เดือน
- กลุ่มนายทหารนำโดยพันเอกกัดดาฟีได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากกษัตริย์ไอดริส (Idris) เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2512 และขึ้นเถลิงอำนาจเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศอุดมน้ำมันในแอฟริกาเหนือสืบมาจนถึงปัจจุบัน
- กัดดาฟี ปัจจุบันอายุ 68 ปี สามารถรักษาอำนาจมาได้ยาวนานกว่า 40 ปี เพราะเขาวางตัวเองเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายกลุ่มผลประโยชน์ที่มีความเกี่ยวพันกัน ตั้งแต่ชนเผ่าต่างๆ ตระกูลที่มีอิทธิพล กองทัพ และรัฐบาล ซึ่งต่างมีส่วนกุมอำนาจในประเทศ
- อย่างไรก็ตาม กัดดาฟี กลายเป็นผู้นำเก้าอี้ร้อนที่สุดในตอนนี้ เมื่อเขาถูกประชาชนในประเทศลุกฮือขึ้นก่อเหตุประท้วงขับไล่ และแม้แต่เจ้าหน้าที่คนสำคัญของรัฐบาล เหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนประชาคมโลก ทั้งฝั่งตะวันตกและโลกอาหรับ ก็ได้เข้าร่วมกับประชาชนชาวลิเบียในการเดินหน้ากดดันให้นายกัดดาฟีสละบัลลังก์ที่เขาครอบครองมานานเกือบ 42 ปี เนื่องจากไม่มีใครทนได้ที่เห็นผู้นำลิเบียใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนผู้บริสุทธิ์จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 300 คน และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีก
- แต่ถึงกระนั้น ในการปรากฏตัวทางโทรทัศน์เมื่อวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ กัดดาฟีได้กล่าวประณามการชุมนุมประท้วงดังกล่าว พร้อมเอ่ยข้อความตอนหนึ่งว่า "ผมจะไม่จากแผ่นดินนี้ไป ผมจะขอพลีชีพที่นี่" ขณะที่นายเซอิฟ อัล-อิสลาม บุตรชายของนายกัดดาฟี กล่าวแถลงผ่านทางสถานีโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ว่า บิดาของเขาไม่เหมือนกับนายซีน เอล อาบีดีน เบน อาลี ของตูนิเซีย หรือนายฮอสนี มูบารัค ของอียิปต์ อดีตผู้นำสองประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกขับออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้ พร้อมประกาศกร้าวว่า "เราจะสู้จนนาทีสุดท้าย และจนกระสุนนัดสุดท้าย"
2. นายอาลี อับดุลเลาะห์ ซอและห์ (Ali Abdullah Saleh)
ประธานาธิบดีเยเมน ครองอำนาจมาแล้ว 32 ปี 2 เดือน
- นายซอเละห์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2489 ปัจจุบันมีอายุ 65 ปี เขาก้าวขึ้นปกครองสาธารณรัฐอาหรับเยเมน (อดีตเยเมนเหนือ) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2521 และอยู่ในตำแหน่งมานานเกือบ 12 ปี ก่อนที่จะได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2537 และกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเยเมน (เยเมนเหนือผนวกกับเยเมนใต้) ซึ่งเป็นชื่อทางการของประเทศเยเมนในปัจจุบัน
- เยเมนเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอ่าวอาหรับที่มีรูปแบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 7 ปี ซึ่งนายซอและห์ได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นสมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 โดยก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2545 เขาได้ประกาศว่า จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย แต่เกิดเปลี่ยนใจและได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อในที่สุด
- ล่าสุด ประธานาธิบดีซอและห์กลายเป็นผู้นำเก้าอี้ร้อนอีกคนหนึ่ง เมื่อเขาถูกฝูงชนในประเทศลุกฮือขึ้นขับไล่ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ นายซอและห์ก็ยังยืนยันว่าจะไม่ก้าวลงจากตำแหน่ง ถ้าเขาไม่แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี
3. นาย ทีโอโดโร โอเบียง งูมา มบาโซโก (Teodoro Obiang Nguema Mbasogo)
ประธานาธิบดี อิเควทอเรียล กินี ครองอำนาจมาแล้ว 31 ปี 6 เดือน
- ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอิเควทอเรียล กินี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปแอฟริกา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2522 ด้วยการโค่นล้มอำนาจนายมาเชียส งูมา (Macias Nguema) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกและเป็นผู้สถาปนาระบบการปกครองแบบพรรคเดียว โดยประธานาธิบดีโอเบียงมีศักดิ์เป็นหลานของนายมาเชียส
- ในปี 2534 ประธานาธิบดีโอเบียงได้สถาปนาระบบการเมืองหลายพรรคขึ้น โดยจัดให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรคขึ้นครั้งแรกในปี 2539 อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว พรรค PDGE (Partido Democrtico de Guinea Ecuatorial) ของนายโอเบียงยังคงเป็นพรรคการเมืองที่ถือครองเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว และมักมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการจำกัดคู่แข่งทางการเมืองและความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งเสมอๆ
- เขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2539 และ 2545 ซึ่งทั้งสองครั้งถูกมองว่ามีการทุจริตผลการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง ขณะที่ Human Rights Watch ได้เปิดเผยรายงานในเดือนมกราคม 2554 ที่ระบุถึงการฉ้อโกงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในปี 2552 ซึ่งนายโอเบียงกวาดชัยชนะถล่มทลายถึง 95.4%
- เมื่อปี 2547 รัฐบาลอิเควทอเรียล กินี สามารถขัดขวางความพยายามในการก่อปฏิวัติรัฐประหารโดยนายไซมอน มานน์ อดีตเจ้าหน้าที่กองกำลังพิเศษของอังกฤษ เขาต้องโทษจำคุก 34 ปีที่เรือนจำในประเทศอิเควทอเรียล กินี จากความล้มเหลวในการทำรัฐประหารดังกล่าว ก่อนที่จะได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีโอเบียง ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552
- นายโอเบียง เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2485 ปัจจุบันมีอายุ 68 ปี เขาดำรงตำแหน่งประธานสหภาพแอฟริกาคนปัจจุบัน
4. นายโฆเซ่ เอดูอาโด ดอส ซานโตส (Jose Eduardo dos Santos)
ประธานาธิบดี แองโกลา ครองอำนาจมาแล้ว 31 ปี 5 เดือน
- นายดอส ซานโตส นับเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของแองโกลา นับตั้งแต่ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2522 โดยนอกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว เขายังควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังแองโกลา และหัวหน้าพรรค MPLA ซึ่งสนับสนุนรัฐบาล
- โดยพรรค MPLA ที่มีนายดอส ซานโตสเป็นหัวหน้าพรรค เป็นฝ่ายได้ชัยชนะในสงครามกลางเมือง และได้เข้าควบคุมอำนาจรัฐ ระบบเศรษฐกิจ และสื่อสารมวลชนของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ
- นับตั้งแต่ที่นายดอส ซานโตสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันและเพชรแห่งนี้ก็กลายเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยากจน เพราะรายได้จากน้ำมันกระจุกอยู่ภายในเครือญาติและพรรคพวกของประธานาธิบดีเท่านั้น
- พรรครัฐบาล MPLA ชนะการเลือกตั้งในปี 2551 ด้วยคะแนนเสียงขาดลอยถึง 81.8% ส่งผลให้ฐานอำนาจทางการเมืองของพรรคและประธานาธิบดีเข้มแข็งยิ่งขึ้น และเป็นการเปิดทางให้นายดอส ซานโตสเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง
- ในเดือนมกราคม 2553 รัฐสภาแองโกลามีมติรับรองรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมอบอำนาจให้กับประธานาธิบดี ซึ่งจะทำให้นายดอส ซานโตส ไม่จำเป็นต้องได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนอีกต่อไป หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับเก่ากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทุกๆ 4 ปี
- ประธานาธิบดีดอส ซานโตส ได้รับการคาดหมายเป็นวงกว้างว่าจะชนะการเลือกตั้งในปี 2555 และจะยังคงครองอำนาจต่อไปจนถึงปี 2565 แม้ว่าจะมีบางกระแสคาดการณ์ว่าเขาจะสละตำแหน่งก่อนหน้านั้นก็ตาม ขณะที่นายดอส ซานโตสเองยังไม่ส่งสัญญาณว่าเขาจะก้าวลงจากตำแหน่ง
- ดอส ซานโตส ซึ่งเกิดวันที่ 28 สิงหาคม 2485 และปัจจุบันอยู่ในวัยย่าง 69 ปี มักหลีกเลี่ยงการเป็นเป้าสายตาหรือจุดสนใจ โดยแทบจะไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะ และปฏิเสธการขอสัมภาษณ์จากสื่อต่างชาติทั้งหมด
5. นายโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe)
ประธานาธิบดี ซิมบับเว ครองอำนาจมาแล้ว 30 ปี 9 เดือน
- หลังจากซิมบับเวได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปีพ.ศ. 2523 นายมูกาเบได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปีเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2523 และนายมูกาเบได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2530 และยึดเก้าอี้มาอย่างเหนียวแน่นนับแต่นั้นตั้งแต่ปี 2530 ท่ามกลางวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่ผลักดันเงินเฟ้อให้พุ่งทะยานทะลุปรอท
- นายมูกาเบ ซึ่งเป็นผู้นำพรรค ZANU-PF (Zimbabwe African National Union-Patriotic Front) ได้ถูกบีบให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ร่วมกับนายกรัฐมนตรี Morgan Tsvangirai ผู้นำพรรคฝ่านค้าน MDC (Movement for Democratic Change) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 หลังจากที่ผลการเลือกตั้งที่ไม่ชี้ขาดได้นำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่ในประเทศ การหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยจากซิมบับเวไปยังแอฟริกาใต้ และวิกฤตการเงินที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าเดิม
- หลังการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ประธานาธิบดีมูกาเบยังคงมีอำนาจทางการเมืองในซิมบับเว ในตำแหน่งประธานาธิบดีและประมุขของรัฐ และคุมกำลังทหาร ส่วนนาย Tsvangirai ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นักวิเคราะห์คาดว่าประธานาธิบดีมูกาเบจะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกนาน
- นายมูกาเบ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2467 ปัจจุบันอายุ 87 ปี ถือเป็นผู้นำคนแรกและคนเดียวของซิมบับเวจนถึงปัจจุบัน
6. นายพอล บิยา (Paul Biya)
ประธานาธิบดีแคเมอรูน ครองอำนาจมาแล้ว 28 ปี 3 เดือน
- นายบิยาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแคเมอรูนตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2525 ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีคนแรก Ahmadou Ahidjo ได้ลาออกจากตำแหน่ง
- ในการเลือกตั้งเมื่อพ.ศ.2527 นายบิยา ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2476 ได้รับเลือกตั้งโดยปราศจากคู่แข่ง ต่อมาในเดือนตุลาคม 2535 ประธานาธิบดีบิยาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งระดับประธานาธิบดีครั้งแรกในประวัติศาสตร์แคเมอรูนที่มีพรรคการเมืองลงชิงชัยกัน และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2547 นายบิยาก็สามารถคว้าชัยได้กลับขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศวาระ 7 ปีต่ออีกสมัย ซึ่งเขาได้รับเสียงสนับสนุน 70.9% ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้
- ประเทศแคเมอรูน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางและตะวันตกของแอฟริกา และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ มีกำหนดจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปในเดือนตุลาคม 2554 นี้ โดยประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 7 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน 2551 รัฐสภาได้ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขยายเป็น 3 วาระ และมีการคาดหมายกันว่าบิยาจะลงชิงตำแหน่งอีกสมัย
7. เดนิส ซาซู งูเอสโซ (Denis Sassou-Nguesso)
ประธานาธิบดีสาธารณรัฐคองโก ครองอำนาจรวม 26 ปี 11 เดือน
- เดนิส ซาซู งูเอสโซ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำคองโกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 ด้วยการปฏิวัติยึดอำนาจจากผู้นำคนก่อน พร้อมกันนั้นเขายังได้ประกาศยกเลิกการปกครองภายใต้ระบอบลัทธิมาร์กซ-เลนินด้วย แต่ต่อมาในปี 2535 เขาประสบกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งแบบพรรคการเมืองหลายพรรค ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งแบบเสรีครั้งแรกของประเทศ ส่งผลให้เขาพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2535
- อย่างไรก็ตาม สงครามการเมืองเต็มรูปแบบได้ปะทุขึ้นในปี 2540 เมื่อมีการปะทะกันระหว่างกองกำลังรัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุนนายซาซู งูเอสโซ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารจากแองโกลา ในที่สุดกองกำลังของนายซาซู งูเอสโซ เป็นฝ่ายชนะ นายซาซู งูเอสโซ จึงได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2540
- ประธานาธิบดีซาซู งูเอสโซ ได้ดำรงตำแหน่งวาระ 7 ปี อีกหนึ่งสมัย จากชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2547 และต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2552 นายซาซู งูเอสโซ ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง เหตุเพราะพรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้ง เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 14 สิงหาคม 2552 ซึ่งภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนี้ นายซาซู งูเอสโซได้ออกคำสั่งยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรวบอำนาจบริหารประเทศมาไว้ที่ประธานาธิบดี
8. สมเด็จ ฮุน เซน (Samdech Hun Sen)
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ครองอำนาจมาแล้ว 26 ปี 1 เดือน
- ฮุน เซน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2528 ในขณะที่มีอายุ 33 ปี ซึ่งทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในโลก
- ฮุน เซน ได้ตั้งพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ลงแข่งขันเลือกตั้งกับพรรคสำคัญอีก 2 พรรคคือ พรรคฟุนซินเปคของสมเด็จพระนโรดม รณฤทธิ์ กับพรรคสม รังสี ของนายสม รังสี นับแต่ปลดปล่อยประเทศจากเขมรแดงจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ฮุน เซนก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาตลอด โดยที่พรรคฟุนซินเปก มีขนาดเล็กลงทุกที และพรรคประชาชนกัมพูชาได้สถาปนาการครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
- บรรดาศักดิ์เต็มๆของฮุน เซนคือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรี (Samdach Akkak Moha Sena Padey Dekjo Hun Sen) เขาได้รับพระราชทานยศ “สมเด็จ" จากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ ในปี 2536
- ปัจจุบันฮุน เซน ถือเป็นผู้นำรัฐบาลที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลผสมมาหลายคณะนับตั้งแต่ขึ้นครองตำแหน่งนายกฯกัมพูชาเมื่อ 26 ปีที่แล้ว
9. พลเอกโยเวรี คากูตา มูเซเวนี (Major General Yoweri Kaguta Museveni)
ประธานาธิบดียูกันดา ครองอำนาจมาแล้ว 25 ปี
- นายมูเซเวนี เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2487 เขาประกาศสถาปนาตนเองเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2529 หลังจากที่สามารถยึดอำนาจจากผู้นำคนก่อน
- ในปี 2536 ประธานาธิบดีมูเซเวนีได้รื้อฟื้นราชอาณาจักรตามประเพณีของยูกันดาขึ้นมาใหม่ หลังผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนๆสั่งห้ามระบบกษัตริย์ตามประเพณีในปี 2510 แต่นายมูเซเวนียืนกรานว่ากษัตริย์เหล่านี้จะต้องจำกัดพระองค์เองอยู่กับพระราชภารกิจทางวัฒนธรรมเท่านั้นและห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
- ในเดือนพฤษภาคม 2539 รัฐบาลยูกันดาได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นครั้งแรก และจากนั้นในปี 2549 รัฐบาลยูกันดาได้จัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยนายมูเซเวนีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 59.26 และมีวาระในการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี
- มูเซเวนีเพิ่งชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 4 ไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 ในการแข่งขันที่สูสี ซึ่งผลของการเลือกตั้งครั้งนี้อาจทำให้ช่วงเวลาของเขาในตำแหน่งประธานาธิบดียูกันดาทอดยาวออกไปถึง 30 ปีก็เป็นได้
10. นาย เบลส กอมเปาโอเร (Blaise Campaore)
ประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซ ครองอำนาจมาแล้ว 23 ปี 4 เดือน
- ประธานาธิบดี เบลส กอมเปาโอเร ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2530 โดยสืบทอดอำนาจต่อจากอดีตประธานาธิบดีโทมัส สันการาที่ถูกสังหารในระหว่างการปฏิวัติรัฐประหาร จากนั้นนายกอมเปาโอเรได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกถึง 4 สมัย คือในปี 2534, 2541, 2548 และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2553 ซึ่งเขาได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายกว่า 80%
- ในปี 2543 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากเดิมประธานาธิบดีสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ 7 ปี ลดลงเหลือเพียง 5 ปี รวมทั้งมีการกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 ประธานาธิบดีกอมเปาโอเรได้ประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ทั้งนี้ ฝ่ายสนับสนุนของนายกอมเปาโอเรอ้างว่า ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนั้น นายกอมเปาโอเรยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงกฎนี้จึงไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าวาระการดำรงตำแหน่งปัจจุบันของนายกอมเปาโอเรจะสิ้นสุดลง
- ทั้งนี้ วาระการดำรงตำแหน่งปัจจุบันของเขาควรจะเป็นครั้งสุดท้าย แต่บางฝ่ายเชื่อว่า นายกอมเปาโอเรกำลังเตรียมการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี
จากรายชื่อข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้นำจากทวีปแอฟริกาครองอันดับไปถึง 8 คน ขณะที่ผู้นำตะวันออกกลางและเอเชียเบียดแย่งมาได้ภูมิภาคละ 1 อันดับ ซึ่งคุณผู้อ่านอาจแปลกใจที่ลิสต์ด้านบนไม่มีนายคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือ หรือ ฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซูเอลา รวมอยู่ด้วย นั่นก็เป็นเพราะผู้นำโสมแดงขึ้นครองตำแหน่งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2537 ขณะที่นายชาเวซเพิ่งนั่งเก้าอี้เมื่อปี 2542 เท่านั้นเอง
เรามารอดูกันว่าในปีหน้า รายชื่อนี้จะเหมือนเดิมหรือไม่ หรือเราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของลิสต์นี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า !?