นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงการต่อสู้คดีความในศาลแพ่งที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาบังคับระงับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า ศาลได้พิจารณาครบถ้วนแล้วในชั้นไต่สวนเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันที่ 2-3 มี.ค.จะมีการไต่สวนในส่วนคดีของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ และจะมีการตัดสินในวันที่ 4 มี.ค. เวลา 13.00 น.ว่าจะมีการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่
"เป็นการทำหน้าที่ของภาคประชาชนเพื่อพิสูจน์และเป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่าสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 สามารถทำได้จริงหรือไม่ หรือจะถูกกลั่นแกล้งเมื่อรัฐต้องการขัดขวางการชุมนุม เพราะหากภาครัฐอ้างจินตนาการส่วนตัวในการเป็นข้ออ้างในการกลั่นแกล้งประชาชน ก็จะสามารถทำได้ตลอดกาล เท่ากับว่าประชาชนไม่ได้มีสิทธิในการชุมนุมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจริง" นายปานเทพ กล่าว
การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ต้องการมาบังคับใช้กับกันพันธมิตรฯเท่านั้น จากการออกหมายเรียกหรือการเปิดช่องทางการจราจรเข้ามาในพื้นที่การชุมนุม แต่กลับปล่อยให้มีรถสัญจรไปมาได้ ทั้งที่ประกาศเป็นพื้นที่ความมั่นคงที่ห้ามไม่ให้มีการเข้าออก นายปานเทพ กล่าวต่อถึงกรณีความพยายามขอคืนพื้นที่เพิ่มเพื่อเปิดช่องทางทางจราจรของรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องการมากกว่านี้จนถึงขั้นสลายการชุมนุม เพราะจากการสังเกตุจะเห็นว่าถนน 2 เลนที่ยึดคืนไปแล้วนานๆจะมีรถผ่านมาสัก 1 คัน ดังนั้นที่อ้างว่าการยึดถนน 2 เลนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนและกระเทือนความมั่นคงของรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องจริง รัฐบลเพียงต้องการเอาชนะคะคานกับภาคประชาชน ทั้งที่ปัญหาคือการยึดคืนพื้นที่จากกัมพูชามาให้ได้
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าตำรวจจะเร่งดำเนินการยึดคืนพื้นที่การชุมนุมมากขึ้นก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสินในวันที่ 4 มี.ค.นี้
"ตนได้ทราบข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่ระบุว่า ภาครัฐมีการใช้งบประมาณเพื่อควบคุมการชุมนุมของภาคประชาชน ตั้งแต่วันที่ 9-20 ก.พ.ที่ผ่านมา รวม 12 วัน เป็นจำนวน 94 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 8 ล้านบาท มากกว่าค่าใช้จ่ายในการชุมนุมของพันธมิตรฯมาก โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ใช้ไป 91 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก การใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและความเหมาะสม เป็นความสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดการสร้างสถานการณ์ขึ้นได้ รัฐบาลต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัดว่ามีรายละเอียดค่าใช้จ่ายอย่างไร และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย" นายปานเทพ กล่าว
ด้านพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า ในการชุมนุมพันธมิตรฯได้ใช้งบประมาณจากเงินบริจาคของประชาชน แต่รัฐบาลใช้ภาษีของคนทั้งประเทศ เพื่อมาจัดการกลั่นแกล้งประชาชนโดยเฉพาะ 94 ล้านบาทจึงเสียเปล่า แทนที่นำไปใช้ในเรื่องที่จำเป็น หรือเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน โดยที่ตั๊กแตนก็ไม่ได้ ช้างก็เหนื่อยเปล่า
"สุดแท้แต่รัฐบาลจะหาทางมากลั่นแกล้งประชาชนอย่างไร ตำรวจก็ต้องพิจารณาทำตามหน้าที่ โดยที่เราไม่ได้วิตกกังวล เนื่องจากเราไม่มีทางเลือกจึงต้องชุมนุมอยู่เช่นนี้" พล.ต.จำลอง กล่าว
ด้านนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยคัดค้านกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 48 และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 51 โดยพรรคประชาธิปัตย์คัดค้านว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นเผด็จการ ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเคยเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วย
แต่ปรากฎว่าเมื่อมาเป็นรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ ทั้งในการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการชุมนุมของพันธมิตรฯ ถือว่ารัฐบาลนี้ละเมิดสิทธิของประชาชนมากที่สุดรวมทั้งขณะนี้ยังมีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ให้ผ่ายความเห็นชอบของรัฐสภาอีกด้วย