นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า ขณะนี้ถือว่าต่างประเทศได้มีความพยายามรุกคืบเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชามากขึ้น ล่าสุดทราบว่าฝ่ายกัมพูชาได้ร่างข้อตกลงหรือทีโออาร์เพื่อเร่งให้อินโดนีเซียในฐานะตัวแทนสักขีพยานของอาเซียนเข้ามาในพื้นที่ เพื่อสังเกตการณ์ไม่ให้เกิดการปะทะกัน ทั้งที่กัมพูชายังยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ ทำให้ไทยไม่สามารถใช้กำลังทหารผลักดันกัมพูชาออกไปได้
รวมทั้งยังมีความพยายามจากทางยูเนสโกที่ส่งนายโคอิชิโร มัตสึอูระ อดีตผู้อำนวยการยูเนสโก เป็นทูตพิเศษเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และได้มีการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา โดยมีผลลัพธ์ออกมาอย่างชัดเจนว่ายูเนสโกไม่สามารถถอนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้แล้ว เพราะการขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปี 51 โดยมีการนำดินแดนของไทยไปเป็นพื้นที่บริหารจัดการร่วม ภายใต้ทะเบียนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา โดยไทยได้เพียงเข้าไปเป็น 1 ใน 7 ชาติที่มีส่วนร่วมในการบริหาร
ด้านนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ต้องถือว่าประเทศไทยได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกนานาชาติเข้าแทรกแซงแล้ว ไม่มีการเจรจาในกรอบทวิภาคีอีกต่อไป แม้ว่านายกฯอภิสิทธิ์จะกล่าวอ้างอย่างไรก็ตาม เพราะการเข้ามาของอินโดนีเซียที่เข้ามาในฐานะตัวแทนของอาเซียน จากข้อเสนอของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ทำให้การเจรจาของไทยและกัมพูชาต่อจากนี้ก็จะมีตัวแทนของอาเซียนเข้ามาร่วม และเข้ามาสังเกตการณ์ตลอดแนวชายแดน ทำให้ประเทศไทยได้สูญเสียความเป็นเอกราช อธิปไตยไปแล้ว ตกอยู่ในฐานะที่มีประเทศอื่นเข้ามาครอบงำแทรกแซงในปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศ
ส่วนกรณีที่ตัวแทนยูเนสโกระบุว่า ได้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปแล้ว เหลือเพียงการรับรองแผนบริหารจัดการ หากมีรับรองแผนบริหารจัดการจะเท่ากับว่า ไทยได้สละดินแดนอธิปไตยในพื้นที่ตรงนั้นอย่างเป็นทางการต่อยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลก ทั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อ้างว่าจะใช้แผนบริหารจัดการร่วม โดยผนวกดินแดนของกัมพูชาเข้ามาด้วย ทั้งที่ไม่เคยแถลงหรือมีรายละเอียดชี้แจงกับประชาชน ทำให้ประเทศไทยถลำลึกเข้าไปในปัญหา รัฐบาลจึงไม่มีทางเลือกในการถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก เพื่อป้องกันการผูกมัดตัวเองต่อการเสียดินแดน