นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ระบุกรณีที่พรรคเพื่อไทย(พท.) เตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงวันที่ 9-12 มี.ค.นี้ ไปพร้อมๆ กับการนัดชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ถือเป็นการตีสองหน้า เล่นการเมืองทั้งในและนอกสภา
"วันนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วท่าทีที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงออกมาว่า เมื่อต้องการจะอภิปรายไม่ไว้วางใจก็รีบจัดการให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้เสร็จ พอกฎหมายรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็ต้องให้เวลาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดเตรียมเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เรื่องกฎเกณฑ์กติกาให้เรียบร้อย พอหมดเรื่องแล้วก็เตรียมตัวให้เรียบร้อย เรื่องแบบนี้ทุกฝ่ายก็ทราบเรื่องดี พรรคเพื่อไทยก็ควรไปเตรียมตัวหาเสียงเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งดีกว่ามาทำแบบ 2 ระบบ คือ สู้ในสภาด้วยและสู้นอกสภาด้วย อย่างนี้ก็เอาเปรียบประชาชนทั่วไป ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ไม่บังควรอย่างยิ่ง" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า ตนเองมีหน้าที่ดูแลสถานการณ์บ้านเมืองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่เกิดเหตุรุนแรงเหมือนในอดีตตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยให้เกิดบรรยากาศที่ดีต่อการเลือกตั้งตรงตามเงื่อนไข 3 ข้อที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้
"ผมมีหน้าที่ที่ต้องติดตามสถานการณ์ คอยประเมินเรื่องการข่าว โดยพยายามให้สถานการณ์คลี่คลายให้มากที่สุด เพราะนายกรัฐมนตรีได้กำหนดแนวทางว่าให้ช่วยกันดูแลให้สถานการณ์สงบเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าเราสามารถเดินเข้าสู่บรรยากาศหาเสียงได้โดยไม่มีเหตุอะไร ระบอบประชาธิปไตยจะได้เดินหน้าได้" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า ยังมีบุคคลบางกลุ่มพยายามที่จะสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งหากมีหลักฐานจะดำเนินคดีทันที เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และแกนนำ นปช.ไม่ควรเรียกร้องให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
"ผมคิดว่าบรรดาสมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำฯ รวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ควรจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในเมื่อรัฐบาลได้ตกลงใจที่จะให้เกิดการเลือกตั้งตามที่มีการเรียกร้องเพราะฉะนั้นไม่ควรไปสร้างความวุ่นวาย" นายสุเทพ กล่าว
ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีข้อต่อรองให้ลดข้อหาในการดำเนินคดีนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า การเรียกร้องตามอำเภอใจนั้นคงทำให้ไม่ได้ ส่วนเรื่องเกี่ยวกับคดีความต้องยึดหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ต้องเคารพกฎหมาย
"กฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องดำเนินการตามนั้น วันข้างหน้าใครมีเสียงข้างมากในสภาฯ จะออกกฎมายนิรโทษกรรมอย่างไรก็เป็นเรื่องของคนอื่น ตราบใดที่ไม่มีกฎหมาย เราก็ต้องรักษากฎหมาย ถ้าบ้านเมืองไม่เคารพกฎหมาย ไม่ทำตามกฎหมายก็จะเกิดกลียุค การชี้แจงก็ต้องพยายามชี้แจงไป คนกลุ่มเล็กๆอาจจะไม่เข้าใจ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของประเทศตัวจริงที่นั่งดูอยู่ก็จะเข้าใจ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ร่วมมือด้วยกลุ่มไหนก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้สำเร็จ" นายสุเทพ กล่าว