พธม.โวยถูกรื้อสุขาชี้แผนบันได 3 ขั้นสลายม็อบตร.จ่อคืนพื้นที่จัดงานกาชาด

ข่าวการเมือง Wednesday March 9, 2011 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุว่า การประกาศของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ฉบับที่ 4 ที่ห้ามการใช้ถนนรอบบ้านพักนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้น แสดงให้เห็นถึงความไม่มีมาตรฐานของรัฐบาล เพราะขณะที่อ้างว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในด้านการจราจรจนต้องให้เจ้าหน้าที่ยึดคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินนอก 2 เลน แต่กลับใช้ความรู้สึกส่วนตัวออกประกาศห้ามใช้ ถ.สุขุมวิท ที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านพักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นใจกลาง กทม. ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่จำเป็นต้องสัญจรไปมาบริเวณย่านนั้น

พร้อมมองว่า หากนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงปัญหาการจราจรจริง ก็ควรย้ายบ้านออกไปอยู่นอกพื้นที่สุขุมวิทจะดีกว่า เพื่อไม่ให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) เข้าเจรจากับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ทั้งบริเวณในพื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาล และลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการจัดงานกาชาดประจำปีที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยช่วงบ่ายของวันนี้ พล.ต.ต.วิชัย จะเดินทางมาเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ และเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติเพื่อขอคืนพื้นที่อีกครั้ง

นายปานเทพ กล่าวว่า ขณะนี้มีขบวนการที่จะพยายามขัดขวางการชุมนุมของพันธมิตรฯ และผู้ชุมนุมป้องกันราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อวาน(8 มี.ค.)มีตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจของ กทม.เข้ามาในพื้นที่การชุมนุมและพยายามทุบทำลายห้องสุขาของผู้ชุมนุม แต่ในที่สุดถูกต่อต้านจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรื้อถอนได้

ทั้งนี้ ความพยายามรื้อถอนห้องสุขาถือเป็นหนึ่งในแผนบันได 3 ขั้นของรัฐบาลในการขับไล่ผู้ชุมนุมเพื่อไม่ให้สามารถชุมนุมได้ในทางปฏิบัติ โดยบันไดขั้นที่ 1 คือการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เพื่อต้องการให้ผู้ชุมนุมเดือดร้อนจากโทษทางอาญา และสามารถดำเนินการขับไล่ผู้ชุมนุม ปล่อยให้มีรถสัญจรผ่านที่ชุมนุม ทำให้ประชาชนและผู้ชุมนุมรู้สึกไม่มีความปลอดภัย แม้จะรับปากว่าจะจัดเจ้าหน้าที่มาดูแลรักษาความปลอดภัยให้ แต่ขณะนี้ก็มีจำนวนไม่เพียงพอ

บันไดขั้นที่ 2 คือการยึดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมออกจากบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ เพื่อสร้างความกดดันให้มากขึ้น และบันไดขั้นที่ 3 คือความพยายามในการรื้อถอนห้องสุขา 48 ห้องริมรั้วกระทรวงศึกษาธิการให้สำเร็จ เพื่อให้ผู้ชุมไม่มีห้องสุขาใช้งาน ส่วนรถสุขา กทม.ที่รัฐบาลเสนอให้แทนนั้น ติดปัญหาข้ออ้างของเจ้าหน้าที่มากมายและยังมีคุณภาพต่ำส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ซึ่งไม่ได้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

นายปานเทพ กล่าวว่า วันที่ 24-25 มี.ค.นี้ คาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา(GBC) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในเรื่องเกี่ยวกับทหารและการวางกำลังทหาร ทำให้พันธมิตรฯ เกรงว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ขัดข้องต่อการให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดนฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา ซึ่งจนปัจจุบันรัฐบาลยังไม่เปิดเผยแผนแม่บทและความตกลง(TOR) ที่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนจัดทำและเสนอให้แก่ไทยและกัมพูชา ทำให้พันธมิตรฯ เป็นห่วงว่าจุดที่ทหารอินโดนีเซียเข้ามาในฝั่งกัมพูชานั้นจะเป็นผืนแผ่นดินไทยหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ภูมะเขือ หรือวัดแก้วสิกขาคีรีศวร เพราะจะเป็นการตอกย้ำว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นของกัมพูชา

"สิ่งที่เราเป็นห่วงมากไปกว่านั้น คือภารกิจทหารอินโดนีเซียที่มาปฏิบัติในพื้นที่นั้น เป็นการบังคับไม่ให้ฝ่ายไทยใช้กำลังผลักดันทหารกัมพูชาออกจากประเทศไทย และยึดครองได้จนกว่าจะพอใจ ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนแล้วในทางปฏิบัติ" นายปานเทพ กล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวด้วยว่า วันพรุ่งนี้(10 มี.ค.) คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เพื่อคัดค้านไม่อินโดนีเซียหรืออาเซียนเข้ามาแทรกแซงปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ และเป็นการตอบโต้การที่รัฐบาลไทยไม่ยืนยันในเรื่องเส้นเขตแดนของตัวเองจนทำให้มีประเทศที่ 3 โดยอาเซียนเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย ทั้งยังเป็นการยืนยันเส้นเขตแดนที่รัฐบาลไทยไม่เคยยืนยัน โดยอ้างสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส เมื่อ 103 ปีก่อนที่ระบุว่าบริเวณดังกล่าวมีการปักปันเขตแดนแล้วเสร็จ โดยยึดขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำในการแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ดังนั้นอาเซียนและอินโดนีเซียไม่มีอำนาจในการแทรกแซงใดๆ ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ