นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย เผยกรณีตัวแทนฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตอินโดนีเซียเพื่อประท้วงและคัดค้านกรณีที่ประเทศอินโดนีเซียในฐานะตัวแทนอาเซียนจะเข้ามาประชุมเจรจาแก้ปัญหาพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา แม้รัฐบาลไทยจะแสดงความยินยอมแล้วก็ตาม
"ภาคประชาชนเห็นว่าการไปยินยอมให้อาเซียนหรืออินโดนีเซียเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่อป้องกันเหตุปะทะนั้นเป็นการแทรกแซงอธิปไตยของไทย เนื่องจากปัญหาพิพาทระหว่าง 2 ประเทศนั้นมีข้อตกลงและสนธิสัญญาที่จะสามารถแก้ไขปัญหากันได้เองทั้ง 2 ฝ่าย" นายประพันธ์ กล่าว
โฆษกคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การที่รัฐบาลยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งทำให้อำนาจต่อรองที่จะกดดันกัมพูชาต้องสูญเสียไป เพราะโดยศักยภาพทางการเจรจาและทหาร หรือสนธิสัญญาที่ผูกพันไทยกับกัมพูชาก็เพียงพอที่จะหยิบยกขึ้นมาใช้แก้ปัญหาได้
"ทั้งนี้เป็นการประท้วงต่อรัฐบาลไทยต่อการตัดสินใจไปยินยอมข้อตกลงกับอาเซียน โดยที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วย และจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า แม้บางสิ่งที่รัฐบาลไปยินยอม มิได้หมายความว่าประชาชนไทยจะเห็นพ้องด้วย หากในอนาคตมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก็จะสามารถหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อหักล้างว่าประชาชนไทยไม่ได้เห็นพ้องกับรัฐบาลนี้ สามารถบอกเลิกข้อผูกมัดใดๆที่จะทำให้ไทยเสียเปรียบและเสียดินแดนได้" นายประพันธ์ กล่าว
ส่วนกรณีการให้ช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเปรย์ซอร์ประเทศกัมพูชานั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หมดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองมานานแล้ว เพราะทุกเรื่องที่เป็นปัญหาของชาติไม่ว่าเรื่องดินแดนและอธิปไตย ไม่ยอมที่จะทำงานหรือแก้ปัญหาสิ่งใดเลย แม้กระทั่งภาคประชาชนพยายามเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือ 2 คนไทยที่ถูกกัมพูชาคุมขังอยู่ ถึงวันนี้ก็ยังๆ ไม่มีความชัดเจนออกมา
โดยที่ล่าสุดมีบทความของนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ชี้แนะช่องทางในการช่วยเหลือนายวีระ และ น.ส.ราตรี ผ่านการใช้สนธิสัญญาโอนนักโทษระหว่างกัน ตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ.2527 ที่รัฐบาลไทยและกัมพูชาลงนามไว้เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค.52 โดยนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ
"เมื่อรัฐบาลไม่ปฏิบัติการใดๆ พันธมิตรฯจึงได้ประสานงานไปทางนายปรีชา สมความคิด น้องชายของนายวีระ เพื่อกดดันให้รัฐบาลใช้ช่องทางนี้ แต่จริงๆ แล้วรัฐบาลควรเป็นฝ่ายที่หยิบยกช่องทางนี้มาใช้" นายประพันธ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการตามสนธิสัญญาดังกล่าวได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขเรื่องการรับโทษนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยกับกัมพูชามีการแลกตัวผู้ต้องโทษกันโดยตลอด โดยทางกัมพูชาได้ร้องขอจากฝ่ายไทยบ่อยครั้ง ซึ่งหากรัฐบาลไทยร้องขอบ้าง ทางกัมพูชาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่อมีสนธิสัญญานี้เข้ามา เพราะเข้าหลักเกณฑ์ทุกอย่าง การที่นายธานีออกมาให้ข้อมูลนั้น ตนเองต้องขอให้มีการอ้างอิงข้อมูล เพราะตามความเห็นของนายอนุรักษ์นั้นมีความชัดเจนว่าสามารถทำได้
"ที่ผ่านมานายธานีมักให้ความเห็นบิดเบือนและให้ผลร้ายกับคนไทยมาโดยตลอด แม้กระทั่งการที่นายวีระป่วยหนัก นายธานีก็ออกมาบอกเพียงว่าเป็นหวัด ทั้งที่ไม่เคยไปเยี่ยมหรือพบนายวีระ จึงต้องดูว่าที่นายธานีออกมาระบุเช่นนั้นอ้างกฎหมายมาตราใด เพราะการโอนนักโทษนั้นก็เพียงเปลี่ยนมารับโทษในประเทศไทยต่อ" นายประพันธ์ กล่าว
โฆษกคณะกรรมการฯ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลไม่แสดงออกให้เห็นถึงการทำหน้าที่ เราจึงขอเรียกร้องว่ารัฐบาลไม่ควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งเรื่องดินแดนอธิปไตย และสิทธิของคนไทย รวมทั้งเรื่องข้าวยากหมากแพง สินค้าราคาแพงสร้างความเดือดร้อนของคนไทย ที่ในความเป็นจริงควรเป็นโอกาสดีของประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหารใหญ่ที่สุดของโลก แต่รัฐบาลไม่สามารถใช้โอกาสนี้ในการสร้างรายได้ให้มากขึ้น กลับอ้างว่าสินค้าราคาแพงเพราะกลไกตลาดโลก แต่เป็นเพราะฝ่ายการเมืองเข้าไปมีประโยชน์ มีการตกลงขึ้นราคากับพ่อค้าผู้ประกอบการ เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ต่อกัน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นเรื่องที่อัปยศมาก เพราะสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน
"รัฐบาลนี้นอกจากไม่แก้ไขปัญหาแล้ว ยังซ้ำเติมวิกฤตความทุกข์ยากเดือดร้อนต่อประชาชน ซึ่งกระแสสังคมควรจะต้องกดดันให้นายกฯพิจารณาตัวเอง หรือหากนายกฯยังยืนหยัดอยู่ในตำแหน่งแล้ว การชุมนุมของเราก็จะต้องมีกิจกรรมกดดันในรูปแบบที่ถูกกฎหมาย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลนี้ที่ไร้ความชอบธรรมในการปกครองประเทศต่อไป" นายประพันธ์ กล่าว
ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การช่วยเหลือนายวีระ และ น.ส.ราตรี นั้นหากรัฐบาลแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นคงไม่บานปลายมาถึงขณะนี้ เมื่อมาถึงตอนนี้หลายฝ่ายจึงมีความเห็นว่า ควรนำตัวนายวีระ และ น.ส.ราตรี กลับประเทศมาก่อน โดยตนเองได้ประสานพูดคุยกับนายปรีชา สมความคิด น้องชายของนายวีระ โดยบอกไปว่าอย่าหวังพึ่งการช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว และให้ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนการขอโอนผู้ต้องโทษจากกัมพูชา ซึ่งสามารถทำควบคู่ไปกับการขออภัยโทษ โดยไม่เสียหาย
"จากบทความของเลขาฯศาลฎีกาฯ และการแสดงความเห็นของท่านอดีตผู้พิพากษายินดี(วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ) ชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ปกป้องแผ่นดินเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่สามารถออกมาเสนอแนะและทำประโยชน์ได้ โดยที่เราไม่ได้ร้องขอ โดยที่ไม่เกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากแสดงความเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาล" พล.ต.จำลอง กล่าว
ส่วนกรณียื่นหนังสือคัดค้านต่อสถานทูตอินโดนีเซียนั้น พล.ต.จำลอง กล่าวว่า แม้เราจะไม่สามารถยับยั้งการเข้ามาของทหารอินโดนีเซียที่จะเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่เพื่อไม่ให้มีการปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งทำให้ประเทศไทยสูญเสียประโยชน์มากมาย แต่การยื่นหนังสือต่อสถานทูตอินโดนีเซียก็สามารถนำมาอ้างได้ว่าประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะสามารถใช้ในการหักล้างข้อเสียเปรียบต่างๆ ได้