นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) ระบุกรณีปัญหาภาษีบุหรี่ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส(ไทยแลนด์) ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)กล่าวหา แต่ในทางกลับกันเรื่องดังกล่าวได้ถูกรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
แม้ปัญหาการสำแดงราคานำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศจะเกิดขึ้นเมื่อปี 49 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รับทำเป็นคดีพิเศษ ซึ่งเป็นช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาในปี 51 ได้ยื่นฟ้องประเทศไทยต่อองค์กรระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก(WTO) และในปี 52 ซึ่งอยู่ในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทาง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอสมัยนั้นได้มีความเห็นสั่งฟ้องต่ออัยการสูงสุด และต่อมานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ได้รายงานเรื่องนี้ให้กับนายอภิสิทธิ์ ทราบ
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค.52 นายอภิสิทธิ์ได้เริ่มเข้าแทรกแซงคดีความดังกล่าวให้เกิดการล่าช้าในการตัดสินคดี โดยการให้สำนักงานผู้แทนการค้าไทยเชิญอธิบดีดีเอสไอและผู้แทนอัยการสูงสุดเข้าร่วมหารือแก้ปัญหา ซึ่งคดีนี้ถูกยื้อเวลาเอาไว้จนกระทั่งในปี 53 คณะผู้พิจารณาจากองค์การการค้าโลกได้สรุปเรื่องนี้ว่าไทยแพ้คดีใน 2 เรื่อง คือ ไทยใช้วิธีการประเมินราคาศุลกากรบุหรี่ไม่เป็นไปตามหลักการของ GATT โดยมีการไปใช้วิธีที่ 4 คือ วิธีการหักทอนซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง และการคิดภาษี VAT ของไทยไม่ถูกต้องซึ่งในประเด็นนี้ไทยได้ทำการอุทธรณ์เพื่อฟ้องกลับ และได้ตัดสินว่าไทยไม่แพ้ในประเด็นนี้ไปแล้ว
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์รอองค์การการค้าโลกตัดสินคดีแล้วจึงได้สั่งให้กรมศุลกากร, กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, สำนักงานอัยการสูงสุด, กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานผู้แทนการค้าไทย(ทีทีอาร์) ทบทวนปัญหาข้อพิพาทกรณีการนำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ จนสุดท้ายในวันที่ 13 ม.ค.54 อัยการสูงสุดได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
"จากเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ได้พยายามกล่าวหาแต่อย่างใด" นายยุทธพงศ์ กล่าว