เอแบคโพลล์เผยปชช.ส่วนใหญ่ยังไม่มีพรรคการเมืองในดวงใจ ส่อวิกฤติศรัทธา

ข่าวการเมือง Sunday March 13, 2011 10:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การตัดสินใจของประชาชนคนไทย เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือกว่า พรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.6 ไม่เลือกพรรคใดในตอนนี้เลย กำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่า ในขณะที่ร้อยละ 17.5 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมาคือร้อยละ 16.2 ระบุพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 7.7 ระบุพรรคอื่นๆ ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.0 เลือกประชาธิปไตย ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.0 เท่านั้นที่เลือกปฏิวัติ

ส่วนความหล่อ ความสวยของนักการเมือง กับความเก่งความสามารถ พบว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบร้อยละร้อย คือ ร้อยละ 98.6 เลือกความเก่ง ความสามารถ ในขณะที่ร้อยละ 1.4 เท่านั้นที่เลือกความสวยความหล่อของนักการเมือง แต่เมื่อถามถึงความร่ำรวยเงินทองของนักการเมือง กับ ความดี มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ของนักการเมือง พบว่า เกินกว่า 1 ใน 5 หรือร้อยละ 23.3 เลือกความร่ำรวยเงินทองของนักการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 76.7 เลือกความดี มีคุณธรรม และซื่อสัตย์ของนักการเมือง

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะมีพรรคการเมืองที่ดีกว่า เป็นความหวังและความจริงให้กับประชาชนได้มากกว่าในความรวดเร็วต่อการตอบสนองแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้ และเป็นเวลานี้เช่นกันที่พรรคการเมืองต่างๆ ในขณะนี้ต้องเร่งกอบกู้วิกฤตศรัทธาทั้งในเรื่อง ดีแต่พูด ทำไม่ได้อย่างที่พูด และการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ เพื่อทำให้ประชาธิปไตยมั่นคงอย่างยั่งยืนในการบริหารจัดการประเทศของไทย

ในผลสำรวจครั้งนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นว่า ความนิยมของสาธารณชนต่อ “ทุกพรรคการเมือง" ที่มีอยู่กำลังถดถอยลงไปอย่างมาก แต่อาจถือเป็นความสำเร็จของกลยุทธทางการเมือง ถ้าเป็นกลยุทธที่ต้องการทำให้คนเบื่อการเมืองและเหลือคนตั้งใจจะไปใช้สิทธิให้น้อยจะได้ควบคุมทิศทางของผลการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ต้อง “รู้ทัน" กลยุทธ์นี้และใช้การตัดสินใจเลือกให้ได้คนที่ดีต่อตนเอง ชุมชนและประเทศชาติ มากกว่าผลประโยชน์ตอบแทนต่อตนเองเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ผลสำรวจดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ จันทบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี หนองคาย สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,113 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในช่วง 10 — 12 มีนาคม 2554


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ