นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) มั่นใจว่า การพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบนั้นจะไม่เกิดปัญหาข้อขัดข้อง แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจยังไม่เห็นด้วยกับการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี จนอาจจะนำไปสู่กรณีไม่โหวตให้กฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ
ทั้งนี้หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะตัดสินใจยุบสภาได้อยู่แล้ว
"ผมมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา เพราะถ้ากฎหมายไม่ผ่าน นายกฯ มีอำนาจยุบสภาอยู่ในตัว และ กกต.ก็ยังมีระเบียบ แต่เพื่ออำนวยความสะดวก เราจึงผ่านกฎหมายให้" นายวิทยา กล่าว
ทั้งนี้ วิปรัฐบาลได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไว้ 4 วัน โดยตั้งเป้าจะให้พิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.54 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยจะนัดประชุมทุกวันพุธ รวม 4 สัปดาห์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 23 มี.ค., 30 มี.ค., 20 เม.ย. และ 27 เม.ย.
นายวิทยา กล่าวว่า วิปรัฐบาลได้ตกลงกับวิปฝ่ายค้านที่จะให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในกรอบระยะเวลารวมทั้งหมด 66 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น ฝ่ายค้านใช้เวลาไม่เกิน 40 ชั่วโมง รัฐบาลใช้เวลาชี้แจงไม่เกิน 20 ชั่วโมง มีเวลาสำหรับพักประชุม การประท้วง และการขานชื่อรวม 6 ชั่วโมง โดยจะเริ่มการอภิปรายวันแรกพรุ่งนี้(15 มี.ค.) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ใช้เวลารวมกันของทั้งสองฝ่ายไม่น้อยกว่า 17 ชั่วโมง ส่วนวันที่สอง(16 มี.ค.) ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 17 ชั่วโมงเช่นกัน ส่วนวันที่สาม(17 มี.ค.) ใช้เวลาไม่เกิน 18 ชั่วโมง
อย่างไรก็ดี หากการอภิปรายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ล่าสุด 3 วันไม่เพียงพอ วิปทั้งสองฝ่ายสามารถเสนอไปยังประธานสภาฯ เพื่อขอขยายเวลาการอภิปรายเพิ่มเติมเป็นวันที่สี่ได้
ส่วนหลักฐานที่จะนำมาใช้ประกอบการอภิปราย เช่น คลิปวิดีโอต่างๆ นั้น รัฐบาลได้ส่ง ส.ส. 3 คนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าเป็นตัวแทนร่วมในคณะกรรมการพิจารณาหลักฐานต่างๆ ที่จะใช้ประกอบการอภิปราย คือ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายศิริโชค โสภา และนายอรรถวิทย์ สุวรรณภักดี ส่วนฝ่ายค้านจะเสนอตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ดี คลิปวิดีโอที่จะนำมาเผยแพร่ในที่ประชุมสภาฯ จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากประธานสภาฯ เพราะหากเกิดความผิดพลาดและมีผลกระทบต่อบุคคลอื่น ประธานสภาฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ