นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปรายของฝ่ายค้าน ได้อภิปรายถึงความล้มเหลวและผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จนอาจจะทำให้ประเทศไทยต้องกลับไปสู่ยุคข้าวยากหมากแพงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาดในเรื่องของน้ำมันปาล์ม, น้ำมันดีเซล, ข้าว, ลำไย รวมถึงปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ
ทั้งนี้ นายมิ่งขวัญ ได้อภิปรายเน้นถึงความล้มเหลวในการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลจากปัญหาน้ำมันปาล์ม โดยชี้ให้เห็นว่าสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศได้ลดลงต่ำกว่าระดับเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย.53 และลดลงสู่ระดับวิกฤติใน ธ.ค.53 แต่รัฐบาลเพิ่งจะเริ่มอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศในเดือนม.ค.54
เหตุการณ์ดังกล่าวมีข้อให้สงสัยว่าเหตุใดจึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศทั้งๆ ที่ไทยเองเป็นหนึ่งใน 3 ประเทศผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และส่งออกรายใหญ่ของโลกรองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันหากพิจารณาจากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 50 จะพบว่าไทยส่งออกปาล์มในปริมาณที่สูง โดยปี 50 ส่งออก 4.27 แสนตัน, ปี 51 ส่งออก 5.06 แสนตัน, ปี 52 ส่งออก 1.99 แสนตัน และปี 53 ส่งออก 2.23 แสนตัน
นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า ผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มที่ผิดพลาด ทำให้ประชาชนต้องซื้อน้ำมันปาล์มบรรจุขวดแพงขึ้นถึงขวดลิตรละ 30% จากเดิม 38 บาท/ขวด มาอยู่ที่ 47 บาท/ขวด
"นำเข้าน้ำมันปาล์ม 3 หมื่นตัน 2 ครั้ง ควรจะนำมาผลิตน้ำมันปาล์มได้ 60 ล้านขวด แต่กลับพบว่าผลิตออกมาเพียง 44 ล้านขวดเท่านั้น ถามว่าอีก 16 ล้านขวดหายไปไหน ใครได้ประโยชน์ และประโยชน์ไปเข้ากระเป๋าของใคร คนไทยต้องเศร้าเข้าคิวซื้อน้ำมันแพง... รัฐบาลบริหารงานไม่เป็น ท่านขาดประสบการณ์ หรือเท่ากับว่ากำลังปล้นประชาชนอย่างถ้วนหน้าตั้งแต่ระดับเศรษฐีถึงยาจก" นายมิ่งขวัญ กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อการบริหารงานเรื่องน้ำมันปาล์มผิดพลาด จึงส่งผลเชื่อมโยงไปถึงการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจุบันจากตัวเลขของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานพบว่า สถานะของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่แท้จริง ณ วันที่ 14 มี.ค.54 เหลืออยู่เพียง 4,800 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะนำไปใช้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ไปได้อีกเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น หรือเท่ากับว่าเงินในกองทุนน้ำมันฯ จะหมดลงอย่างแน่นอนในสิ้นเดือนมี.ค.นี้
ดังนั้น เมื่อเงินในกองทุนน้ำมันฯ ถูกใช้หมดไปกับการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลที่ล่าสุดชดเชยไปแล้วถึง 5 บาท/ลิตรนั้น สิ่งที่จะตามมาคือ เกิดการชักดาบจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่มีเงินไปชำระหนี้สินที่ก่อไว้กับกองทุนต่างๆ, บมจ.ปตท.(PTT) จะไม่ได้รับการชำระหนี้จากรัฐบาล จากกรณีการชดเชยราคาน้ำมันไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ อาจถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินลง ถือว่าสั่นสะเทือนต่อสถานภาพของ ปตท.อย่างมาก ซึ่งทางออกของรัฐบาลในช่วงก่อนเลือกตั้งคงทำได้เพียงแค่ 1.กู้เงินเพิ่ม 2.เสริมสภาพคล่อง หรือ 3.เป็นหนี้มหาศาล
นายมิ่งขวัญ ยังแสดงให้เห็นถึงการเสียโอกาสของรัฐบาลชุดนี้จากการใช้ช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาไม่สูงมาสร้างความสุขให้กับประชาชน โดยเปรียบเทียบให้เห็นการบริหารจัดการกลไกราคาน้ำมันระหว่างรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี กับรัฐบาลชุดปัจจุบัน
โดยระบุว่า รัฐบาลของนายสมัคร มีอายุการทำงานรวม 241 วัน เฉลี่ยราคาน้ำมันดิบในช่วงอายุรัฐบาลอยู่ที่ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล ในขณะที่อายุการทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ 800 กว่าวัน เฉลี่ยราคาน้ำมันดิบในช่วงอายุรัฐบาลนี้อยู่ที่เพียง 71 ดอลลาร์/บาร์เรล รัฐบาลของนายสมัครมีช่วงเวลานานถึง 88% ของอายุการทำงานรวมที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสูงกว่า 90 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่สามารถทำให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ที่ราคา 35 บาท/ลิตร แต่รัฐบาลชุดนี้มีช่วงเวลาเพียง 9% ของอายุการทำงานรวมที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยนสูงกว่า 90 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่กลับทำให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ในราคาสูงถึง 48 บาท/ลิตร
สิ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงจากที่รัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการกลไกราคาน้ำมันได้ ทั้งๆ ที่มีช่วงเวลามากถึง 90% ของอายุรัฐบาลที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยต่ำกว่า 90 ดอลลาร์/บาร์เรล นั่นคือ การปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินเพื่ออุ้มราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร, น้ำมันดีเซลขึ้นราคาแบบก้าวกระโดด, เมื่อเงินอุดหนุนก๊าซ LPG หมดลงอาจจะได้เห็นราคา LPG พุ่งไปถึง 31 บาท/กก. จากปัจจุบันที่ 18.13 บาท/กก.
"รัฐบาลอภิสิทธิ์ พลาดโอกาสทองในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดตัวลงมาก แทนที่จะคืนความสุขให้ประชาชนโดยลดราคาน้ำมัน แต่รัฐบาลกลับสวนกระแสขึ้นราคา เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ผิดคำมั่นสัญญาตามที่ได้หาเสียงไว้ และกลับไปขึ้นเพดานภาษีสรรพสามิตทั้งดีเซลและเบนซิน...นายกฯบริหารประเทศล้มเหลว ทุจริตทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ปาล์มน้ำมันโยงถึงปัญหาไบโอดีเซลและกองทุนน้ำมันที่จะกระทบถึงปัญหาน้ำมันทุกชนิด" นายมิ่งขวัญ กล่าว
พร้อมระบุว่า รัฐบาลควรจะปล่อยให้ราคาก๊าซ LPG เป็นไปตามกลไกตลาดในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาไม่สูง แต่รัฐบาลก็กลับไม่ดำเนินการ ซึ่งถือว่าเป็นการพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย และอ่อนด้อยประสบการณ์อย่างมาก การบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลนอกจากทำให้ประชาชนไม่ได้ใช้น้ำมันในราคาถูกแล้ว ยังส่งผลให้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไหลออกอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะหมดลงอย่างสิ้นเชิงในเดือนมี.ค.นี้ ดังนั้นปัญหาที่คนไทยจะต้องเผชิญต่อไป คือ ปัญหาราคาน้ำมันแพงทั้งเบนซิน ดีเซล รวมทั้งก๊าซ LPG ที่จะต้องปรับขึ้นราคาในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งความล้มเหลวจากการบริหารจัดการด้านพลังงานของรัฐบาล จะทำให้คนไทยต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างสูงสุดในประวัติศาสตร์
นายมิ่งขวัญ ยังอภิปรายถึงการแก้ปัญหาราคาข้าวในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ว่า รัฐบาลชุดนี้ผิดพลาดในการใช้นโยบายประกันราคาเพราะเป็นนโยบายที่มีจุดอ่อนที่ทำให้ราคาข้าวของชาวนาตกต่ำ ชาวนาต้องนำข้าวมาเทเต็มถนนในช่วง 3 วันก่อนที่รัฐบาลจะแถลงผลงานในช่วง 2 ปี โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าขายได้เพียง 6,000-7,000 บาท/เกวียน หรือบางจังหวัดขายได้เพียง 5,700 บาท/เกวียนเท่านั้น พร้อมกับตำหนิกรณีที่รัฐบาลนำข้าวในสต็อก 4 ล้านตันออกมาจำหน่าย เพราะส่งผลให้ราคาข้าวของชาวนาตกต่ำ โดนพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ
"รัฐบาลเอาข้าวในสต็อก 4 ล้านตันออกมาขายทำไม ใครได้ประโยชน์ ทำไมไม่รอให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาดีก่อน แล้วค่อยเอาสต็อกออกมา การเอาข้าวในสต็อกรัฐออกมาขาย ทำให้ราคาข้าวชาวนาตกต่ำ พ่อค้าก็ไปกดราคารับซื้อ...ถ้าบริหารจัดการได้ดีจริง ทำไมไม่ทำให้ราคาดีเหมือนตอนที่ผมอยู่(สมัยนายมิ่งขวัญ เป็นรมว.พาณิชย์) ตอนนั้นข้าวตันละ 14,000 - 15,000 บาท" นายมิ่งขวัญ กล่าว
นายมิ่งขวัญ ยังชี้ให้เห็นว่าสมัยที่เป็น รมว.พาณิชย์ ได้ทำให้ชาวนามีความสุขจากการขายข้าวได้ราคาดี โดยราคาข้าวขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ มีการกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าไว้ที่ 14,000 บาท/เกวียน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 19,000 บาท/เกวียน ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวสารเจ้า 5% (ราคา FOB ท่าเรือกรุงเทพฯ) ขึ้นไปถึง 33,500 บาท/ตัน และข้าวหอมมะลิ 40,000 บาท/ตัน ซึ่งจากการที่ชาวนาสามารถขายข้าวได้ในราคาสูง ได้ส่งผลให้ชาวนาในช่วงนั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนสามารถใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ได้ก่อนกำหนด
นายมิ่งขวัญ ยังได้อภิปรายถึงปัญหาการสำแดงราคานำเข้าบุหรี่อันเป็นเท็จของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้ภาษีในส่วนนี้มากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท พร้อมระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้จนทำให้อัยการไม่สั่งฟ้องคดี
"ปมทุจริตรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีมากมายตั้งแต่ รถเอ็นจีวี ซื้อรถแถมสัมปทาน หวยกาชาด ระบบ3จี และโครงการรถไฟฟ้า...ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ คนไทยเกิดมาต้องแบกหนี้ 64,000 บาท/คน...หมดเวลาก่อหนี้ หมดเวลาอยู่ต่อไป หมดเวลารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"นายมิ่งขวัญ กล่าว