นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ เกี่ยวกับการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลจากกรณีที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วนเพื่อไทย อภิปรายฯว่า รัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนลิตรละ 5 บาท เพื่อให้ราคาดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 30 บาท ทำให้วันนี้กองทุนเหลืออยู่ไม่ถึง 4,800 ลบ. ว่า ไม่มีใครตอบได้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะขึ้นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่ยืนยันว่าถึงสิ้นเดือนเม.ย.เรายังทำได้แน่นอน โดยอาศัยการบริหารกองทุนเป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ผมไม่ได้ใช้เงินกองทุนจนสนุกเพราะว่าจะหาเสียง ที่ผมมีมติและจะประชุมเร็วๆนี้ เพราะผมพูดเอาไว้ว่าเงินกองทุนมาแตะที่ประมาณหมื่นล้านหรือต่ำกว่าหมื่นล้านเท่าไหร่มาคุยกัน
"ถ้าผมไม่สนใจ ผมก็ปล่อยแบบสมัยท่านนายกฯทักษิณ ขาดทุนเกือบแสนล้าน แล้วก็ทิ้งให้รัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาใช้หนี้ ผมไม่ทำหรอครับ ผมมีความรับผิดชอบต่อประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต"
ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบสูงสุดเกือบ 9 หมื่นล้านบาท โดยฝีมือการบริหารของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ 9 หมื่นล้านบาทนั้นบริหารกันจนในที่สุดรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ ต้องมาคอยใช้หนี้ที่กู้เงินไปเพื่อทำให้กองทุนน้ำมันกลับมาเป็นบวกได้
"ถ้าท่านว่าผมว่า กำลังจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบ ไม่ตำหนิท่านนายกฯทักษิณสักนิดเลยเหรอครับ ว่าบริหารยังไงติดลบไปตั้ง 9 หมื่นล้าน" นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า หลักคิดที่ผมบริหารไม่ตั้งใจที่จะให้กองทุนน้ำมันติดลบ 9 หมื่นล้าน แนวความคิดผมชัดเจน วันที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูง หลักคิดของผมคือเราจะเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เราจะเก็บภาษีสรรพสามิตก็จะยิ่งเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน ช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแพงๆ เราจึงต้องยอมลดภาระที่รัฐบาลเก็บจากประชาชน แต่เมื่อไหร่ที่ราคาน้ำมันดิบลดลงเราก็ต้องเก็บเงินไว้เป็นคลังเพื่อใช้ในวันที่น้ำมันแพง หลักคิดแบบนี้ผมว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วย
"ช่วงที่หาเสียงที่ผมบอกว่าต้องลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพราะตอนนั้นราคาน้ำมันดิบสูง แต่ช่วงที่ผมเข้ามาบริหารช่วงแรก ราคาน้ำมันดิบต่ำ ผมถึงต้องพยายามเก็บเงินไว้ก่อน นี่คือหลักของการรักษาเสถียรภาพครับ แต่ถ้าเราบอกว่าช่วงไหนแพงเราช่วย ช่วงไหนถูกเราหาเสียงกันต่อ นั่นแหละครับคือการบริหารที่ไม่มีความรับผิดชอบ"
ส่วนกรณีที่ท่านบอกว่าคนเดือดร้อนกันทั้งประเทศเพราะผมช่วยแต่เรื่องของดีเซล ต่อว่าพวกผมว่าไม่ค่อยช่วยคนจน ผมถามว่าคนจนคนรวยใครใช้ดีเซล ใครใช้เบนซิน ผมยอมเสียคะแนนกับคนที่มีฐานะที่เก็บเงินเบนซินแพงหน่อย เพราะผมต้องการช่วยคนจน เกษตรกรใช้ พี่น้องประชาชนที่พอเริ่มมีฐานะใช้ครับ รถที่ใช้ในการเกษตรกร รถปิคอัพ คนเหล่านี้ผมช่วย และผมต้องเก็บเงินจากคนที่ใช้เบนซิน 95 หลักในการบริหารผมชัดเจน ยามที่เราเผชิญที่เป็นปัญหาของแพง เราต้องลดภาระให้ประชาชน เมื่อใดก็ตามที่ภาวะธรรมชาติค่อนข้างต่ำ เอื้อ เราต้องเก็บเงินเข้ามา ถ้าต้องเลือกช่วย ก็ต้องช่วยคนอยากลำบากคือคนจน และอาจจะต้องเก็บจากคนรวยบ้าง
"ถ้าท่านไม่เห็นด้วยก็ไปหาเสียงสิครับ ว่าจะเปลี่ยนเป็นเก็บเงินจากคนใช้ดีเซลไปอุ้มคนใช้เบนซิน ให้แตกต่างกันไปเลยว่าสิ่งที่ผมทำมามันผิด"
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ฐานะของกองทุนน้ำมันเพิ่งลืมตาอ้าปากตอนที่ผมเข้ามาเป็นรัฐบาลแต่ผมอาศัยช่วงที่ราคาน้ำมันถูกจัดระบบเก็บเงินเข้ากองทุนและภาษีสรรพสามิต ที่ท่านยกเลิกไปดื้อๆ เอากลับเข้ามาสู่โครงสร้าง และสะสมฐานะเงินจนกระทั่งขึ้นไปถึง 3 หมื่นล้านบาท ทำไมไม่พูด
"ข้อมูลที่เสนอใช่ครับ แต่ทำไมเสนอไม่หมด ความเที่ยงตรง ความเที่ยงธรรมต่อการเสนอข้อมูลอยู่ตรงนี้ต่างหาก 3 หมื่นล้านพอเรามีปัญหาราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูง เราจึงนำมาช่วย"
ส่วนเรื่อง บี3 บี5 ถ้ายังคงบี 3 หรือ บี5 เงินยิ่งไหลออกจากกองทุน เพราะการชดเชยตรงนั้นสูงกว่า แต่ที่เราปรับ บี5 ลงมาเป็นบี3 บี2 นอกเหนือจากการที่จะทำให้มีน้ำมันปาล์มเข้าไปสู่ภาคอาหารแล้วยังจะเป็นการประหยัดภาระของเงินกองทุนน้ำมันด้วย
"ไม่น่าผิดพลาดง่ายๆแบบนี้เลยครับที่อภิปรายฯไปเมื่อสักครู่"
สำหรับเงินที่เหลือแค่ 4 พันล้านบาท เพราะหักภาระหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการชดเชยก๊าซหุงต้มไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.
"ทำไมไม่อ่านด้วยว่าเรากำลังเปลี่ยนจากรถ LPG เป็นรถ NGV ที่ทำให้มีหนี้ของกองทุนฯ"
นอกจากนี้ นายกฯ ยืนยันว่าจะไม่ลอยตัวก๊าซหุงต้ม พร้อมท้าฝ่ายค้านให้หาเสียง ประกาศลอยตัว LPG ผมก็จะหาเสียงว่าผมไม่ลอยตัว LPG ผมต้องการให้ประชาชนซื้อก๊าซหุงต้มในราคาเท่าเดิม และไม่เสียวินัยการเงินการคลัง และผมจะบริหารกองทุนน้ำมันกับระบบภาษีให้ได้