นิด้าโพล เผยปชช.หวังเห็นส.ส.ไม่บิดเบือนข้อมูล-ไม่หยาบคายส่อเสียดในการอภิปรายฯ

ข่าวการเมือง Tuesday March 15, 2011 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา" สรุปได้ว่า สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในสภาประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.2 อยากเห็น ส.ส.ไม่บิดเบือนข้อมูลหรือป้ายสี รองลงมาคือไม่พูดจาหยาบคาย ยั่วยุส่อเสียด ร้อยละ 43 ไม่ประท้วงพร่ำเพรื่อ ร้อยละ 35.3 รวมถึงอภิปรายกระชับตรงประเด็น ร้อยละ 27.8

ผลสำรวจพฤติกรรมของส.ส.ที่ประชาชนคาดว่าจะเห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ พบว่าเกือบร้อยละ 60 เชื่อว่าจะเห็น ส.ส.แสดงวาจาหยาบคาย ก้าวร้าว รองลงมา คือ ส.ส.ค้านพร่ำเพรื่อ ร้อยละ 43.4 และไม่เคารพกติกาหรือประธานในที่ประชุมร้อยละ 41.4 โดยมีบางคนคาดว่าจะได้เห็นพฤติกรรมก้าวร้าว ถึงขั้นใช้กำลัง ร้อยละ 23.9 นอกจากนี้ผู้ตอบยังคาดว่าจะเห็น ส.ส.หลับในที่ประชุม ร้อยละ 10.7 ตลอดจนพูดคุยเล่นหรือคุยโทรศัพท์ในช่วงอภิปรายร้อยละ 10.2

ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการ/บทลงโทษ ส.ส. ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในสภาระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรลงโทษโดยการไล่ออกจากห้อประชุมร้อยละ 46.1 ตามด้วยการการตัดสิทธิลงคะแนนเสียง ร้อยละ 30.7 นอกจากนี้ ประชาชนยังเห็นว่า ควรลงโทษด้วยการ ตัดเงินเดือน และทำทัณฑ์บน ใกล้เคียงกันคือประมาณ ร้อยละ 19.0 ทั้งสองกลุ่ม

ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร สรุปได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่าประธานสภา ไม่เด็ดขาดในการควบคุมการประชุมร้อยละ 36.5 ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นที่ว่า ไม่เป็นกลางร้อยละ 35.2 และมีถึงร้อยละ 22.6 ที่เห็นว่า หลงประเด็น

ประเด็นที่ประชาชนให้ความสำคัญ หรืออยากฟังการอภิปราย พบว่า ประเด็นปัญหาทุจริต คอรัปชั่น ประชาชนให้ความสำคัญหรืออยากฟังมากเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 59.9 รองลงมาคือ ปัญหายาเสพติดร้อยละ 19.3 เป็นที่สังเกตว่าปัญหาการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ และ ปัญหาเศรษฐกิจ ข้าวของแพง ประชาชนกลับอยากฟังเพียงร้อยละ 9.2 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ

"ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่ประชาชนต้องการฟังมากที่สุด เนื่องจากเรื่องนี้เป็นวิกฤติใหญ่ของประเทศไทยและมีการสั่งสมมาทุกรัฐบาล ต่อเนื่องยาวนาน ทั้งรัฐบาลที่ผ่านมาและชุดปัจจุบัน อย่างเรื่องน้ำมันปาล์ม บุหรี่ และอื่นๆ สะท้อนว่าประชาชนเอือมระอากับปัญหานี้ และเป็นวิกฤติของระบอบรัฐสภาไทย ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ตอนนี้ใกล้ถึงจุดที่ผู้คนใกล้จะปฏิเสธระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หากยังปล่อยให้อยู่ในวังวนนี้ อาจนำไปสู่การปฏิเสธระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้ ทิศทางหรือผลการอภิปรายจะไปในทิศทางใดก็ขึ้นอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะตอบประเด็นต่างๆ ได้ขนาดไหน หาเหตุผลมาทำให้ประชาชนเห็นพ้องหรือคล้อยตามได้เพียงใด ซึ่งไม่ง่ายเลย อย่างปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนและการแก้ปัญหาที่ล้มเหลว" นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณะบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ