นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการ MPA Executive Program Bangkok สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) มองว่าฝ่ายค้านสามารถหาข้อมูลและนำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ดี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเงินเฟ้อ, ค่าแรง, สินค้าราคาแพงและขาดตลาด ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำให้ประชาชนสนใจ
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากการบริหารงานของรัฐบาลไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าจึงทำให้เกิดปัญหา เช่นกรณีของกระทรวงพาณิชย์ในการปัญหาน้ำมันปาล์ม
"งานนี้ต้องถือว่าฝ่ายค้านได้แต้ม จากการชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงทำให้ประชาชนเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า รัฐบาลไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องเสียงโหวตและน่าจะได้รับการไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน" นายมนตรี กล่าว
ทั้งนี้มองว่า ยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอีกหลายประเด็นที่รัฐบาลใช้วิธีแก้ไขที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามหลักทางวิชาการ เช่น เรื่องขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่จะส่งผลต่อภาระการคลังระยะยาว ซึ่งจะต้องบริหารให้ดี โดยรัฐบาลได้จัดทำงบประมาณปี 54 โดยมียอดขาดดุลสูงถึง 4.2 แสนล้านบาท
ผู้อำนวยการ MPA Executive Program Bangkok นิด้า กล่าวว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นการแก้เพื่อหวังผลในระยะสั้นมากกว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศในระยะยาว อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูงมากนัก แต่รัฐบาลกลับอนุมัติให้มีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งที่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งรายจ่ายแบบนี้ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มภาระการคลังในระยะยาว
นอกจากนี้ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการก็ยังเป็นต้นเหตุที่จะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการผลิตที่ลดลง และประชาชนที่ไม่ได้ขึ้นค่าแรงก็จะมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่จะเกิดตามมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การขึ้นเงินเดือนดังกล่าวก็อาจไม่ได้ส่งผลด้านบวกต่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างเต็มที่นัก เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืนในการแก้ปัญหาระยะยาวและการแก้ปัญหาที่ตรงจุด จึงคาดว่าผลที่ตามมาอาจจะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องเสียไป
ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องบริหารงบประมาณให้ดี เช่นเดียวกับที่ภาคเอกชนจะต้องบริหารต้นทุนให้ดี เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งจะผ่านพ้นปัญหาเศรษฐกิจมาได้ไม่นาน โดยปัจจุบันภาระงบประมาณแผ่นดินกว่า 80% เป็นรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ ทำให้มีสัดส่วนของงบประมาณที่จะนำไปใช้ในการลงทุน วางโครงสร้างพัฒนาประเทศไม่เต็มที่เท่าที่ควร
นายมนตรี กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะพยายามดูแลเรื่องค่าครองชีพ แต่ก็มีประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับผลพวงจากมาตรการดังกล่าวด้วย ทำให้มีรายได้เท่าเดิมแต่จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้มีความเดือดร้อนเนื่องจากรายได้แท้จริงติดลบ ดังนั้นรัฐบาลควรใช้นโยบายที่จะทำให้เกิดการเพิ่มศักยภาพในการก่อให้เกิดรายได้ให้มากขึ้น เช่น การจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบเพื่อให้ความรู้มากขึ้น รวมถึงการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงานและผู้ประกอบการให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวและยั่งยืนมากกว่า
"ทุกคนรู้และเข้าใจว่าปัญหาของประเทศมีมากมาย ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลคงไม่สามารถแก้ได้หมดทุกปัญหา แต่ก็อยากจะให้รัฐบาลวางรากฐานรองรับการเติบโตในอนาคตไว้ด้วย โดยหวังว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้เมื่อทุกอย่างฟื้นตัวขึ้นมา เศรษฐกิจก็สามารถจะกลับมาขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง" นายมนตรี กล่าว