นพ.แวมะฮาดี แวดาโอะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน(พท.)กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 9 คนว่า รัฐบาลไร้ความสามารถในการบริหารพลังงานจนส่งผลให้คนไทยได้รับเดือดร้อน เช่น การนำน้ำมันคุณภาพสูงจากอ่าวไทยไปขายต่างประเทศ แล้วนำเข้าน้ำมันราคาถูกจากต่างประเทศ, การอนุญาตให้บริษัทที่ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยได้กำไรสูงกว่าผลประโยชน์ที่จ่ายคืนให้รัฐ,
ปล่อยให้ผู้ประกอบการโกงประชาชนด้วยการปนก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในก๊าซแอลพีจี และก๊าซเอ็นจีวี และยังหลอกว่าก๊าซเอ็นจีวีดีกว่าแอลพีจีเหมาะกับการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ นอกจากนี้ คนในพื้นที่ที่มีแหล่งก๊าซกลับใช้ในราคาแพงกว่าคนกรุงเทพฯ เช่น คนในภาคอีสาน เช่นเดียวกับคนที่อำเภอจะนะที่มีโรงแยกก๊าซ หรือคนที่นราธิวาสที่มีโรงแยกก๊าซ
นพ.แวมะฮาดี กล่าวว่า ก๊าซในเมืองไทยไม่ขาดแคลน มีเหลือเฟือมากกว่าที่อลาสก้าที่มีก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลกถึง 3 เท่า ขณะที่คูเวตก็ผลิตก๊าซธรรมชาติได้น้อยกว่าไทย ส่วนน้ำมันดิบประเทศไทยผลิตได้แต่ละปีมากพอๆ กับเอวาดอร์ และไทยก็ยังผลิตน้ำมันดิบมากกว่าบรูไน โดยน้ำมันดิบที่ขุดเจาะในอ่าวไทยมีปริมาณ 40 ล้านลิตรต่อวัน
ขณะที่ไทยส่งออกพลังงานเกือบ 1 ใน 4 ของจีดีพีต่อประเทศ ซึ่งถือว่ามากเมื่อเทียบกับเอกาดอร์ที่เป็นสมาชิกโอเปคซึ่งมีการส่งออกน้ำมันพอๆกับไทย แสดงว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกพลังงานระดับโลกไปแล้ว ประเทศไทยที่น้ำดับดิบคุณภาพดีๆ และยังส่งออกไปต่างประเทศ แต่กลับนำเข้าน้ำมันคุณภาพต่ำจากดูไบ ซึ่งมีสารกำมะถันซัลเฟอร์แล้วบริษัทก็ต้องมาปรับปรุงคุณภาพน้ำมันแล้วก็มาเบิกค่าใช้จ่ายจากรัฐบาล
"โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยขายคนไทยแพงกว่าต่างชาติ เราเจาะน้ำมันในอ่าวไทย แต่เราไปอิงราคาในสิงคโปร์ ทำให้บริษัทไปบวกค่าปรับปรุงคุณภาพ และบวกค่าขนส่ง ค่าประกันไทย ค่าที่สิงคโปร์ 20 บาท บวกค่าต่างๆ อีกรวมเป็น 22 บาท ทั้งที่น้ำมันดิบดีๆ ที่เจาะมาจากอ่าวไทยต้นทุนแค่ 18 บาทเท่านั้น ตรงนี้เป็นปัญหาทำให้คนไทยซื้อน้ำมันแพงกว่าต่างชาติทั้งที่เป็นทรัพย์สมบัติของคนไทย" นพ.แวมะฮาดี กล่าว
นพ.แวมะฮาดี กล่าวว่า ประธานาธิบดีมูฮัมหมัด ผู้ปกครองอาหรับสั่งเสียไว้เมื่อ 1,500 ปีว่า ใครที่จะปกครอง เขาต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ มีน้ำ ทุ่งหญ้าและป่าไม้ ไฟและพลังงาน ถ้าสามสิ่งนี้รัฐบาลใดเอาไปให้กับเอกชนแล้ว แน่นอนมันเป็นสัญญาณความล่มสลายของชาติเพราะผลประโยชน๋ของชาติจะหายไป
"ขอตั้งฉายารัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า เป็นรัฐบาลแมวที่ผมให้ดูแลปลาย่าง แต่คนกลับเอาปลาย่างไปกิน" นพ.แวมะฮาดี กล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การเปรียบเทียบกับประเทศโอเปคนั้นต้องดูประชากรของสองประเทศ ของไทย 60 ล้านคน บรูไนมีประชากรแค่หลักแสน การที่เรานำเข้าน้ำมันเพราะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้พลังงานในประเทศเพราะเรามีคนมากกว่า แม้เรามีการส่งออกด้วย แต่การนำเข้าหรือส่งออกเราไม่ได้พูดถึงสินค้าตัวเดียวกัน เพราะการนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ในเชื้อเพลิงจะมีความแตกต่างกัน เพราะผลผลิตบางตัวเราไม่ได้ใช้ในประเทศ
ส่วนกรณีที่เราต้องอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์เพราะเป็นราคาของตลาดโลก อย่างไรก็ตามโครงสร้างเหล่านี้แม้เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่หลายเรื่องเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติของเราเอง โดยเฉพาะกรณีก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรากำลังสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพิ่ม แต่ที่ช้าเพราะมีปัญหาเรื่องมาบตาพุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่ามีการเอาเปรียบราคาโครงสร้างพลังงานนั้น ขอชี้แจงว่า รัฐบาลก่อนหน้านี้ทุกชุดพยายามใช้ก๊าซหุงต้มราคาเดียวกับตลาดโลกแต่รัฐบาลนี้ให้เปลี่ยนแนวคิดนี้ ซึ่งตนเองประกาศตั้งแต่ตอนเป็นฝ่ายค้านว่าไม่เห็นด้วย เพราะก๊าซธรรมชาติของไทยมีพอที่จะใช้ไปสู่ทุกครัวเรือนในไทย เราจึงกำหนดราคาก๊าซหุงต้มมาโดยตลอดและยังเดินหน้าแนวทางนี้
"ท่านอภิปรายรัฐบาลผิดชุด เพราะรัฐบาลชุดนี้มาเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ท่านบอกควรจะทำ โดยขายก๊าซหุงต้มต่ำกว่าราคาปิโตรเคมี ส่วนน้ำมันดีเซลที่ราคาลิตร 30 บาท เราก็ไม่ปล่อยให้ลอยตัวเหมือนที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย บอก และยืนยันว่า แม้ผมจะกลับมาเป็นรัฐบาลก็จะไม่ลอยตัวน้ำมันดีเซล เพราะเราคำนึงถึงคนจน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนเรื่องการผูกขาดนั้น ต้องยอมรับว่าวันนี้ บมจ.ปตท.(PTT) มีสถานะที่แปลกอยู่ แต่เรากำลังจะแก้ไขกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเพื่อให้ครอบคลุมถึง ปตท.
"แทนที่ท่านจะมาไว้วางใจ ตรงกันข้ามผมเป็นรัฐบาลที่ริเริ่มนโยบายในเชิงโครงสร้างชุดแรกที่คำนึงถึงความเป็นธรรมที่ดูแลคนจน ผมไม่ใช่แมว รัฐบาลชุดก่อนๆ ที่ไม่มาแตะโครงสร้างนั่นแหละคือ แมว ส่วนก็รัฐบาลชุดนี้ไล่แมวออกไปเรียร้อยแล้ว" นายอภิสิทธิ์ กล่าว