(เพิ่มเติม) "หม่อมอุ๋ย"หนุนโมเดลปรองดองเร่งด่วนตั้งรัฐบาลใหม่ ปชป.จับมือ พท.

ข่าวการเมือง Monday March 21, 2011 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รมว.คลัง มองอนาคตการจับขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้งว่า มี 5 พรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งจะเป็นแบบรัฐบาลผสม และไม่มีโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้

หากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล จะทำให้เกิดความปรองดองในประเทศได้เร็วขึ้น และมองว่านโยบายการบริหารงานด้านเศรษฐกิจจะไม่แตกต่างจากปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ต้องมีเงื่อนไขว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องไม่มีหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โมเดลที่คาดว่าจะมีการจับมือจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งตนขอสนับสนุนแนวทางนี้

ส่วนโมเดลที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์ จับมือกับพรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาล มองว่าแนวทางนี้จะทำให้การปรองดองในชาติล่าช้า และการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงยังมีอยู่ ขณะที่นโยบายบริหารเศรษฐกิจจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

แบบที่ 3 พรรคเพื่อไทย จับมือกับพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาล มองว่าแนวทางนี้มีโอกาสที่จะสร้างความปรองดองในชาติได้ดีขึ้น การบริหารจัดการเศรษฐกิจดีขึ้น แต่มีเงื่อนไขว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะต้องได้รับการยอมรับ

แบบที่ 4 พรรคประชาธิปัตย์ จับมือกับพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กอื่นๆ มองว่าแนวทางนี้หากนายกรัฐมนตรียังมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ความปรองดองในชาติอาจจะยังล่าช้า และมีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงอยู่ แต่หากให้นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเล็กก็เชื่อว่าสถานการณ์ความปรองดองและการชุมนุมจะดีขึ้น การบริหารเศรษฐกิจจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่มีเงื่อนไขว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเล็กจะต้องได้รับการยอมรับ

อดีต รมว.คลัง กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง Prospects for the Thai Economy during the Election Year and Beyond ในเวทีThe 5th Annual Euromoney Thailand Investment Forum ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า สิ่งสำคัญ คือ จะต้องได้ผู้นำประเทศที่มีความเข้มแข็ง กล้าตัดสินใจ ต้องการผู้นำที่มีความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจ

เนื่องจากขณะนี้การลงทุนภายในประเทศเริ่มอิ่มตัวจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ เริ่มจำกัด ทั้งจากการเปิดรับเงินทุนจากต่างประเทศผ่านการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และการพัฒนาโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ดทำให้อุตสาหกรรมในประเทศครบวงจรตั้งแต่โครงการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ขณะที่ไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพตนเองจากประเทศผู้ผลิตมาเป็น Trading Nation เพื่อเป็นศูนย์การการนำเข้าสินค้าเพื่อขายต่อมากกว่าการเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียว โดยจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งให้พร้อมรองรับ ดังนั้น เห็นว่า ควรที่จะมีการจัดทำท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันตก เพื่อขยายเส้นทางการค้าขาย การลงทุนให้มากขึ้น โดยที่ไทยมีความพร้อมในวงการการเงินที่อยู่ระดับแข็งแกร่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

"เศรษฐกิจไทยใกล้ถึงทางตันแล้วในระดับหนึ่ง จากเดิมช่วงแรกที่มีจอมพลสฤษฎิ์ เป็นนายกฯ เราเปิดรับเงินทุนต่างชาติ มีบีโอไอ ดึงเงินทุนต่างชาติทำให้เศรษฐกิจโตได้มา 20 ปี แล้ว มาสมัย พลเอกเปรม ฯมีการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ทำให้เรามีอุตสาหกรรมครบ แต่ตอนนี้เริ่มเต็มแล้ว แต่มีการพัฒนาทวาย แต่เราคงไม่ได้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเราเต็มที่ เราจะได้แง่วัตถุดิบที่นำมาใช้" อดีต รมว.คลัง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ