INSIGHT:"ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-เพื่อแผ่นดิน"เกาะขั้วตั้งรัฐบาลใหม่

ข่าวการเมือง Wednesday March 23, 2011 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลผ่านฉลุยศึกอภิปรายซักฟอกของฝ่ายค้านอย่างปิดประตูพลิกล็อค แม้การชี้แจงข้อกล่าวหาของรัฐมนตรีบางคนยังไม่สามารถเคลียร์ข้อข้องใจแบบไร้มลทิน ฉายภาพขั้วรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง "ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-เพื่อแผ่นดิน" ภายใต้การประกาศลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

แม้แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ โต้โผรัฐบาลเองยังแสดงความมั่นอกมั่นใจว่า ไม่ว่าจะอย่างไรนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทยจะไม่ปันใจย้ายขั้วไปจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)แน่นอน ไม่ว่าจะด้วยความสัมพันธ์ที่ดีหรือจะมองหน้ารู้ไส้ในกันก็ตาม ขณะที่มีการประกาศความชัดเจนในการจับมือระหว่างนายเนวิน และนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าตัวจริงของพรรคชาติไทยพัฒนาที่จะร่วมงานทางการเมืองด้วยกันก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย

ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เคยระบุว่าพรรคได้ตั้งเป้าหมายที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯ มากกว่าเดิมที่ได้ 170 เสียง แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว เพราะต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกว่าครึ่งหนึ่งคือ 240-250 เสียง ขณะที่ฐานเสียงของ ปชป.ในพื้นที่ภาคเหนือมีราว 40% แต่การเจาะฐานเสียงในพื้นที่ภาคอีสานยังยาก แต่เริ่มดีขึ้นจาก 7% มาเป็น 25% แต่จะไปได้สวยถ้ามีฐานเสียงจากพรรคภูมิใจไทยมาช่วยเสริมทัพ

ขณะที่คะแนนเสียง ส.ส.ที่ให้การไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 9 คน เมื่อเช้าวันเสาร์อยู่ในช่วง 243-251 เสียง พบว่ากลุ่ม 3 พีของพรรคเพื่อแผ่นดิน เลือกโหวตไห้กับรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยตามสายสัมพันธ์ที่มีกันมาก่อน นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย แตกแถวมายกมือให้กับรัฐมนตรีบางคนด้วย

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย(ภท.) กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่นั้น คิดว่าในภาพรวมความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังสามารถทำงานร่วมกันได้ แม้ที่ผ่านมาจะมีประเด็นขัดแย้งกันบ้างก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ประเด็นเรื่องจำนวน ส.ส.จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ซึ่งจะสะท้อนผ่านการส่ง ส.ส.ลงแข่งขันในแต่ละพื้นที่ว่าจะเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยหรือฟาดฟันกันอย่างดุเดือด

"การทำงานร่วมกัน ไม่มีใครได้ใครเสียทั้งหมด เพราะหากจะมาทำงานร่วมกันคงต้องลดประเด็นทางการเมือง แต่มุ่งเรื่องการทำประโยชน์ให้บ้านเมือง" นายศุภชัย กล่าว

ด้านมุมมองของนายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.)เชื่อว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งในระบบปาร์ตี้ลิสต์จะเป็นการแข่งขันระดับนโยบายและตัวผู้นำ โดยในส่วนของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั้นจะมีความชัดเจนหลังจากประกาศยุบสภาแล้ว

ส่วนการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง นายวัชระ เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้พรรคภูมิใจไทยเป็นตัวช่วยในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ชัดเจน แต่ในส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาจะชูตัวเองในการเป็นพรรคขนาดกลาง โดยขายนโยบายทางด้านเกษตรและด้านการสร้างความปรองดอง แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับใคร ซึ่งคงมีความชัดเจนหลังรู้ผลการเลือกตั้ง แต่ยังมั่นใจว่าจะสามารถรักษาฐานคะแนนเสียงเดิมไว้ได้ ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 30-40 เสียง

"พรรคชาติไทยพัฒนาวันนี้ เราไม่รู้ใครเอาเราบ้าง หรือเราเอาใครบ้าง เราไม่รู้ว่าเราได้เท่าไร จุดยืนเราเป็นพรรคขนาดกลาง" นายวัชระ กล่าว

สำหรับความร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายวัชระ กล่าวว่า คงไม่สามารถประเมินได้ว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมา และเชื่อว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 และอันดับ 2 จะมีคะแนนเสียงห่างกันไม่เกิน 30 เสียง

แต่ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคขนาดกลางที่ได้คะแนนรองลงมาจะมีอิทธิพลสูงมากในการชี้ขาดว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาลหรือใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และอาจจะมีการชี้นำจากบุคลากรนอกวงการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และยังเชื่อว่าจะมีพรรคขนาดกลางมากกว่า 2 พรรคที่จะจับมือจัดตั้งรัฐบาล

นายวัชระ กล่าวว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรีคนต่อไปจะต้องมีบุญเก่าที่สะสมมาเยอะมากถึงจะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

"ใครได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เรื่องได้รับความนิยมสูงสุดอย่างเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงวาสนาด้วย บางคนแต่งชุดรอ บางคนวาสนาไม่ถึง คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เป็นตำแหน่งที่มีเนื้อนาบุญเก่าในชาติภพก่อน และชาตินี้ทำบุญเยอะมากจากทุกๆปัจจัย" นายวัชระ กล่าว

ขณะที่ นพ.มารุต มัสยวาณิช นักการเมืองที่ย้ายจากพรรคเพื่อแผ่นดินไปสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า มองว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 และจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม แต่การจะจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใดบ้างนั้นคงขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ 220 เสียง พรรคภูมิใจไทยได้ 70 เสียง อาจจัดตั้งรัฐบาลเพียง 2 พรรคการเมืองได้ แต่ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่า 200 เสียง พรรคขนาดกลางก็จะมีโอกาสมากขึ้น และเชื่อว่าแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นพรรคอันดับ 1 ก็ไม่มีทางที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

นพ.มารุต มองว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้นั้น พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถกวาดคะแนนเสียงได้เกือบทั้งหมด ขณะที่ในพื้นที่ภาคอีสานเองพรรคเพื่อไทยคงไม่สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส.ได้เหมือนในอดีต โดยจะแบ่งกับหลายพรรคการเมือง อย่างอีสานใต้น่าจะเป็นของกลุ่มนายสุวัจน์ ลิปพัลลภ แกนนำพรรครวมชาติพัฒนา พื้นที่อีสานล่างภูมิใจไทยน่าจะได้ ส.ส. ส่วนพื้นที่อีสานเหนือและภาคเหนือน่าจะเป็นพื้นที่ของเพื่อไทย

นพ.มารุต กล่าวว่า ช่วงที่มีการเลือกตั้งอาจจะมีเหตุการณ์ทางเมืองเกิดขึ้น เช่น อาจจะมีการพิจารณาคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะยังเหลือคดีที่คั่งค้างอยู่ในกระบวนการพิจารณาอีกหลายคดี หรืออาจจะมีการเสนอตัวเพื่อให้เกิดการปรองดอง เช่น อาจจะมีข้อเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมามอบตัวและให้ได้รับการประกันตัว เพราะยังเชื่อว่ายังมีคนใหญ่ในรัฐบาลยังเป็นผู้ประสานที่ดีหรือวางแนวทางนี้เอาไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ