ป.ป.ช.สั่งฟัน"หมอเลี๊ยบ"อดีตขุนคลังตั้งบุคคลต้องห้ามคัดเลือกบอร์ด ธปท.

ข่าวการเมือง Wednesday March 23, 2011 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูล นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแต่งตั้งบุคคลต้องห้ามเข้าเป็นกรรมการคัดเลือกคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยเตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.โดยมีนายภักดี โพธิ์ศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการ

โดยการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นพ.สุรพงษ์ ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ในช่วงระหว่างวันที่ 6 ก.พ.-9 ก.ย.51 มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.ให้รัฐมนตรี(รมว.คลัง) แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง ประกอบด้วย กรรมการจำนวน 7 คนจากบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยกรรมการคัดเลือกจะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ในขณะที่ได้รับการแต่งตั้ง และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้รวบรวมรายชื่อ สถานภาพ(ความมีชีวิต) และที่อยู่ของผู้เคยดำรงตำแหน่งในหน่วยงานต่างๆ ตามที่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 28/1 กำหนด โดยมีบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีชีวิตประมาณ 61 คน จากนั้นได้จัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยมีรายละเอียด ชื่อ-นามสกุล อายุ ตำแหน่งในอดีต ตำแหน่งในปัจจุบัน และระบุคุณสมบัติว่าอยู่ในข่ายที่จะเป็นกรรมการคัดเลือกฯ หรือประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้หรือไม่ ทั้งนี้ได้ให้ข้อสังเกตว่า บุคคลบางคนอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน(conflict of interest) ในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว แล้วจัดทำบันทึกลงวันที่ 26 มี.ค.51 เสนอให้ นพ.สุรพงษ์ ในฐานะ รมว.คลัง พิจารณาคัดเลือก แต่ นพ.สุรพงษ์ มิได้สั่งการใดๆ

ต่อมา สศค.จึงมีบันทึกลงวันที่ 28 มี.ค.51 ยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 7 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการคัดเลือกฯ โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำรงตำแหน่ง แต่ นพ.สุรพงษ์ ไม่ได้ลงนามในคำสั่งดังกล่าว อ้างว่ายังมีเวลาพอสมควรที่จะคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมในการแต่งตั้งเป็นกรรมการคัดเลือกฯ ต่อมา นพ.สุรพงษ์ ได้กำหนดรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขึ้นใหม่ และได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 769/2551 ลงวันที่ 4 มิ.ย.51 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 7 คน โดยปรากฏว่ามีกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 3 ราย เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน), ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลัง และผุ้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.และเป็นบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่ สศค.มีข้อสังเกตว่า อยู่ในข่ายเป็นบุคคลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำรงตำแหน่งกรรมการคัดเลือกฯ

โดย นพ.สุรพงษ์ ได้ทราบถึงข้อสังเกตดังกล่าวแล้ว แต่ยังคงแต่งตั้งบุคคลทั้งสามเป็นกรรมการคัดเลือกฯ โดยอ้างว่าเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์รอบด้าน ทั้งการเงินและการคลัง รวมทั้งเป็นผู้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

หลังจากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.ที่ นพ.สุรพงษ์ แต่งตั้งขึ้นดังกล่าวได้พิจารณาคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.จำนวน 6 คน จากบุคคลที่ปลัดกระทรวงการคลังเสนอรายชื่อจำนวน 6 คน และจากบุคคลที่ผู้ว่าการ ธปท.เสนอรายชื่อจำนวน 12 คน โดยปรากฏว่าบุคคลที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 5 คน จากจำนวนทั้งหมด 6 คนเป็นบุคคลที่ถูกเสนอชื่อจากรองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้นรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง และทำหน้าที่เป็นกรรมการคัดเลือกอีกด้วย

ต่อมาได้มีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวกับการแต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยว่า การคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกฯ บางคน มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 28/1 และได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการระงับการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการ ธปท. และให้ รมว.คลัง ดำเนินการยกเลิกการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. และแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ใหม่ ให้เป็นไปตามกฎหมาย

ซึ่ง รมว.คลัง คนต่อมาได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1757/2551 ลงวันที่ 1 ธ.ค.51 ยกเลิกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 769/2551 ลงวันที่ 4 มิ.ย.51 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 และแต่งตั้งบุคคลชุดใหม่เป็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.จะไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. แต่การใช้อำนาจของกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีผลอย่างสำคัญต่อกระบวนการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินของคณะกรรมการ ธปท. เพราะแม้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะมิได้เป็นผู้กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินโดยตรง แต่ก็เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่จะไปกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ดังนั้นบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกจึงควรเป็นบุคคลที่มีอิสระอย่างแท้จริงจากสถาบันการเงิน

สำหรับบุคคลที่เป็นกรรมการของธนาคารนั้น เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นของธนาคารกำหนดบำเหน็จให้เป็นจำนวนสูง กรรมการของธนาคารต้องบริหารกิจการของธนาคารไปในทางที่จะนำมาซึ่งกำไรให้มากที่สุด กรรมการของธนาคารจึงไม่เป็นอิสระจากธนาคาร จากความไม่เป็นอิสระนี้หากได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือก กรรมการของธนาคารที่ได้รับแต่งตั้งนี้ย่อมมีแนวโน้มที่จะคัดเลือกบุคคลที่มีนโยบายในทางผ่อนปรนต่อการแสวงหากำไรของธนาคารเป็นกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ส่วนบุคคลที่มีนโยบายเข้มงวดกวดขันกับการแสวงหากำไรของธนาคารและให้ความสำคัญกับการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงินและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงินตามความมุ่งหมายของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 กรรมการธนาคารที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคัดเลือกย่อมมีแนวโน้มที่จะไม่คัดเลือกบุคคลประเภทนี้

ดังนั้นการที่ นพ.สุรพงษ์ ได้พิจารณาและมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน), ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) จึงเป็นการแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 28/1 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การกระทำของ นพ.สุรพงษ์ จึงมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้อง นพ.สุรพงษ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 70 ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ