พธม.เตรียมประกาศท่าทีหลังสภาฯจะพิจารณาบันทึก JBC 25 มี.ค.

ข่าวการเมือง Wednesday March 23, 2011 13:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีการเลื่อนการพิจารณาร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับ จากวันที่ 29 มี.ค.มาเป็นวันที่ 25 มี.ค.นี้ ว่า คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรภาคประชาชน จะมีการหารือกำหนดมาตรการหรือกิจกรรมเพื่อกดดันที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยจะมีการประกาศท่าทีบนเวทีปราศรัยในช่วงเย็นหรือค่ำ

ส่วนจะมีการเคลื่อนมวลชนไปปิดล้อมรัฐสภาหรือไม่นั้น พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะต้องถามความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการฯก่อน โดยต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบถึงผลดีผลเสีย ส่วนการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น ไม่มีผลทำให้เกิดความแตกต่างในการตัดสินใจ เพราะการชุมนุมตรงนี้ก็ถือว่ามีความผิดแล้ว คงไม่มีผลอะไรหากจะเคลื่อนไปชุมนุมที่ใด

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าพรรคประชาธิปัตย์จะให้การรับรองบันทึก JBC ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังให้ข้อมูลที่คาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่าหากรัฐสภาไม่รับรองบันทึก JBC จะเป็นการทำลายกลไกการเจรจาทวิภาคี และนำไปสู่การเจรจาพหุภาคี ที่นานาชาติจะเข้ามาแทรกแซง ซึ่งตนต้องโต้แย้งในกรณีดังกล่าว เพราะเห็นว่าที่ประชุมัฐสภามีสิทธิที่จะไม่เห็นชอบบันทึก JBC ได้ หากเห็นว่ามีข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และนำไปสู่การเจรจาของคณะกรรมาธิการ JBC เพื่อหาข้อสรุปใหม่ จนกว่าจะได้ข้อยุติที่ตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังบอกอีกว่าบันทึก JBC ไม่มีผลต่ออธิปไตยของประเทศชาติ แต่เมื่อได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลายจุดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอย่างชัดเจน โดยฝ่ายกัมพูชาสามารถนำไปอ้างได้ในเวทีนานาชาติว่า ฝ่ายไทยยอมรับผลเสียหายที่เกิดขึ้น โดยรัฐสภาของประเทศไทยเอง โดยเฉพาะในเวทีคณะกรรมการมรดกโลกที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย.54 เพื่อให้พิจารณาทเห็นชอบแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ยังค้างอยู่ หรือจะอ้างในเวทีอาเซียนว่าไทยยอมรับในการถอนทหารออกจากพื้นที่ เปิดทางให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ และไม่สามารถใช้กำลังทหารผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยตลอดกาล

หากปล่อยให้มีการผ่านการรับรองของรัฐสภาไทยจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยของชาติ การที่นายกฯพยายามอ้างว่าได้มีข้อสังเกตของสมาชิกรัฐสภาหรือรับปากว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในอนาคต ก็ไม่มีหลักประกันได้ว่าทางกัมพูชาจะยินยอมด้วย

"หวังว่าการคัดค้านประท้วงที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้งของภาคประชาชนจะทำให้สมาชิกรัฐสภาเปลี่ยนใจ ทบทวนเพื่อให้ประเทศชาติผ่าวิกฤตตรงนี้ไปได้ โดยการลงมติไม่รับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้การเจรจากลับไปเริ่มต้นใหม่ระหว่างไทยและกัมพูชาในกลไกทวิภาคี"นายปานเทพ กล่าว

ส่วนกรณีที่ยูเนสโกเตรียมเป็นตัวกลางจัดการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงเดือน พ.ค.ก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในเดือน มิ.ย.นี้ นายปานเทพ กล่าวว่า การเข้ามาของยูเนสโกนั้นไม่ได้ต้องการหาทางออกสำหรับปัญหา แต่ต้องการหาทางออกเพื่ออนุมัติแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร โดยต้องการเร่งรีบให้ไทยและกัมพูชามีการประชุม JBC และ GBC เพื่อให้ตกลงกันได้ก่อนเดือน มิ.ย.นี้ โดยยูเนสโกเองย้ำตลอดว่าไม่สามารถเพิกถอนทะเบียนของปราสาทพระวิหารออกจากมรดกโลกได้ แสดงว่าไม่ฟังคำโต้แย้งของประเทศไทย ดังนั้นไทยไม่ควรไปร่วมกระบวนการนี้ และประท้วงในการละเมิดอธิปไตยของประเทศ โดยการถอนตัวจากภาคีอนุสัญญาคณะกรรมการมรดกโลก เพราะยูเนสโกเคยละเมิดอธิปไตยของไทยมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง เมื่อปี 53 ที่ได้ให้เงินสนับสนุนฝ่ายกัมพูชาจำนวน 5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ เพื่อมาซ่อมและสร้างตลาดกัมพูชา ในผืนแผ่นดินไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ