In Focusลำดับเหตุการณ์ “มูอัมมาร์ กัดดาฟี" นำพาลิเบียเข้าสู่สงคราม

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 23, 2011 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่ประธานาธิบดี ไซเน เอล อาบิดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย และประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ ที่หมดอำนาจลงแล้ว โลกรอดูว่าใครจะกลายเป็นผู้นำเผด็จการรายต่อไปที่จะกระเด็นตกจากบัลลังก์ ซึ่งผู้ที่ถูกจับตามองมากที่สุดก็คือ พันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้ปกครองลิเบียมายาวนานถึง 42 ปี

แต่ดูเหมือนว่าผู้นำลิเบียกำลังบำเพ็ญตนตามที่นายเซอิฟ อัล-อิสลาม บุตรชายของเขา ได้ประกาศกร้าวเอาไว้ว่า บิดาของเขาไม่เหมือนกับสองผู้นำประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกาเหนือที่ถูกกระแสกดดันอย่างหนักจากประชาชนจนยอมลุกจากเก้าอี้ติดกาวตราช้าง จนถึงขณะนี้ กัดดาฟีก็ยังดื้อแพ่งไม่ยอมสละตำแหน่ง แม้จะต้องเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ และต้องแลกกับการนำพาประเทศให้กลายเป็นสนามรบให้กองกำลังนานาชาติโจมตีก็ตาม

จุดเริ่มต้นจากการประท้วงสู่สงครามกลางเมือง

15 ก.พ. - จากความไม่พอใจในหลายๆเรื่องที่บ่มเพาะมานาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้องไปจนถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม เมื่อถูกกระตุ้นด้วยกระแสการต่อต้านรัฐบาลและผู้นำในหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ในที่สุดประชาชนชาวลิเบีย จึงได้ลุกฮือขึ้นชุมนุมประท้วง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและยุติระบอบการปกครองของกัดดาฟี

16 ก.พ. - การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจได้เริ่มต้นที่เมืองเบงกาซี เมืองใหญ่อันดับสองของลิเบีย และเหตุการณ์รุนแรงได้ลุกลามแผ่ขยายไปยังเมืองอื่นๆ ซึ่งรวมถึงกรุงทริโปลี เมืองหลวง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี กองกำลังกลุ่มต่อต้านสามารถเข้าควบคุมเมืองเบงกาซีและเมืองอื่นๆทางภาคตะวันออกของประเทศได้

17 ก.พ. - กลุ่มผู้ประท้วงได้กำหนดให้วันนี้เป็น “วันแห่งความโกรธแค้น" ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 5 ปีเหตุการณ์ที่กองกำลังความมั่นคงสังหารผู้ประท้วงที่โจมตีสถานกงสุลอิตาลีประจำเบงกาซีเมื่อปี 2549

20 ก.พ. - กัดดาฟีออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ พร้อมปลุกระดมกองกำลังทหารให้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วง ด้านนายเซอิฟ อัล-อิสลาม บุตรชายของกัดดาฟี กล่าวเตือนในระหว่างแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์ว่า ลิเบียอยู่ในภาวะเสี่ยงของสงครามกลางเมือง หากเหตุปะทะระหว่างกองกำลังรักษาความมั่นคงและกลุ่มผู้ประท้วงยังคงดำเนินต่อไปและทวีความรุนแรงขึ้น

"เราจะสู้จนนาทีสุดท้าย และจนกระสุนนัดสุดท้าย" บุตรชายกัดดาฟีกล่าว

โลกอาหรับจับมือชาติตะวันตกดึงยูเอ็นแทรกแซง

21 ก.พ. - นักการทูตของลิเบียประจำสหประชาชาติเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สถานทูตลิเบียในประเทศต่างๆทั่วโลก "ยืนเคียงข้างประชาชน" และเรียกร้องให้กองทัพลิเบียช่วยโค่นอำนาจพันเอกกัดดาฟี

22 ก.พ. - กัดดาฟีปรากฏตัวทางโทรทัศน์ โดยกล่าวประณามการชุมนุมประท้วง พร้อมประกาศว่า "ข้าพเจ้าจะไม่จากแผ่นดินนี้ไป ข้าพเจ้าจะขอพลีชีพที่นี่" และระบุว่าจะบดขยี้กลุ่มต่อต้าน

ด้านสันนิบาตอาหรับตัดสินใจระงับการมีส่วนร่วมของลิเบียในการประชุมต่างๆในอนาคตของสันนิบาตอาหรับและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันหลายประเทศเริ่มอพยพพลเมืองของตนออกจากลิเบีย เนื่องจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนกัดดาฟีกับกลุ่มต่อต้านขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้น

26 ก.พ. - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมติคว่ำบาตรลิเบีย ซึ่งรวมถึงการห้ามโอนย้ายถ่ายเทหรือซื้อขายอาวุธกับลิเบีย การห้ามเดินทางของกลุ่มบุคคลที่จะเดินทางไปลิเบีย และการอายัดทรัพย์สินกัดดาฟีและสมาชิกครอบครัวของผู้นำลิเบีย นอกจากนี้ ยังได้มีการแสดงท่าทีสนับสนุนเป็นครั้งแรกให้ส่งกรณีของลิเบียขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

28 ก.พ. - รัฐบาลกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งประกอบด้วย 27 ชาติสมาชิก อนุมัติมาตรการคว่ำบาตรกัดดาฟีและคนสนิท รวมถึงการห้ามซื้อขายอาวุธกับลิเบีย การห้ามเดินทางไปลิเบีย และการอายัดทรัพย์สินกัดดาฟี สมาชิกครอบครัว และรัฐบาลลิเบีย

ขณะที่กัดดาฟียังคงไม่ยอมรับการประท้วงบนท้องถนนในกรุงทริโปลี และประกาศด้วยว่า "ประชาชนลิเบียทุกคนรักข้าพเจ้า"

1 มี.ค. - สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในการถอดถอนสมาชิกสภาพของลิเบียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงชาติอาหรับและแอฟริกา โดยหวังกดดันรัฐบาลพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ยุติการใช้กำลังปราบปรามประชาชน ทั้งนี้ ลิเบีย ถือเป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกระงับสมาชิกภาพในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เนื่องจากการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง

5 มี.ค. - สภาแห่งชาติลิเบีย ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดตั้งโดยกลุ่มต่อต้าน ได้จัดการประชุมที่เมืองเบงกาซี และประกาศทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนชาวลิเบียแต่เพียงผู้เดียว

10 มี.ค. - ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองสภาแห่งชาติลิเบีย ในฐานะผู้แทนที่ถูกต้องตามกฎหมายและชอบธรรมของประชาชนชาวลิเบีย

11 มี.ค. - ลิเบียระงับความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส

12 มี.ค. - รัฐมนตรีต่างประเทศของสันนิบาตอาหรับตกลงกันในการประชุมฉุกเฉินที่กรุงไคโร เพื่อเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดเขตห้ามบิน (no-fly zone) เหนือลิเบียเพื่อปกป้องพลเมือง

13 มี.ค. - กองกำลังของกัดดาฟีเดินเครื่องชนกลุ่มต่อต้าน โดยกองกำลังทหารของรัฐบาลลิเบียเคลื่อนทัพสู่เมืองเบงกาซี ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มต่อต้าน หลังจากที่ได้ยึดเมืองซาวิยาห์ ทางภาคตะวันตกของประเทศ กลับคืนมาจากกลุ่มต่อต้านได้สำเร็จ รวมไปถึงเมืองบินจาวัด ราสลานุฟ เบรกา และอัจดาบิยา ทางภาคตะวันออก ที่กลุ่มต่อต้านได้ควบคุมไว้ก่อนหน้านี้ก็ถูกแย่งชิงคืนไปได้เช่นกัน

คณะมนตรีความมั่นคงฯ มีมติประกาศเขตห้ามบิน

17 มี.ค. - หลังจากที่สันนิบาตอาหรับได้ลงคะแนนเสียงเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดเขตห้ามบินเหนือลิเบีย ในที่สุดคณะมนตรีความมั่นคงฯ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 15 ชาติ ก็มีมติให้กำหนดเขตห้ามบินในลิเบีย โดยมติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 10-0 คะแนน ขณะที่ 5 ชาติ ได้แก่ จีน รัสเซีย เยอรมนี อินเดีย และบราซิลงดออกเสียง พร้อมกันนี้ UNSC ยังเปิดทางให้มีการใช้ “ทุกมาตรการที่จำเป็น" (ยกเว้นห้ามกองกำลังภาคพื้นดินของต่างชาติเข้ายึดครองดินแดนลิเบีย) เพื่อปกป้องประชากรและพลเรือนชาวลิเบียในพื้นที่ต่างๆที่เป็นเป้าโจมตีของกองกำลังที่สนับสนุนกัดดาฟี

ทั้งนี้ “เขตห้ามบิน" มีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งกัดดาฟีไม่ให้ใช้กองทัพอากาศโจมตีกลุ่มต่อต้านและพลเรือน และสกัดกั้นการลำเลียงพลทางอากาศและการสอดแนม

กองกำลังพันธมิตรเปิดฉากโจมตีลิเบียทางอากาศ ตามมติ “เขตห้ามบิน" ของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ที่มีผลบังคับใช้

19 มี.ค. - บรรดาผู้นำจากประเทศอาหรับ และมหาอำนาจตะวันตก รวมตัวกันในกรุงปารีส เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการที่จำเป็นทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการใช้กำลังทหาร เพื่อบังคับใช้มติของคณะมนตรีความมั่นคงที่กำหนดเขตห้ามบินเหนือลิเบีย

มูซา คูซา รมว.ต่างประเทศลิเบีย ประกาศหยุดยิงและยุติปฏิการทางทหารทั้งหมด เขากล่าวว่า ลิเบีย ในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ “จำต้องยอมรับมติของคณะมนตรีความมั่นคง"

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลลิเบียประกาศหยุดยิง แต่ยังคงมีรายงานการสู้รบดำเนินต่อไปในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยผู้เห็นเหตุการณ์ในเบงกาซีเผยว่า กระสุนปืนใหญ่หลายนัดตกลงในเมืองและมีรถถังเคลื่อนเข้ามา นอกจากนี้ได้เกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น

และแล้วฝูงบินรบฝรั่งเศสขึ้นบินเหนือน่านฟ้าเมืองเบงกาซี และยิงจรวดลูกแรกเข้าใส่รถถังฝ่ายรัฐบาลลิเบีย ขณะที่ขีปนาวุธจากสหรัฐและอังกฤษเกินร้อยลูก โจมตีที่มั่นทางทหารสำคัญกว่า 20 แห่งในกรุงทริโปลี นับเป็นการสู้รบระหว่างลิเบียกับกองกำลังพันธมิตรเป็นครั้งแรก

นับได้ว่าสงครามลิเบียได้อุบัติขึ้นแล้วอย่างแท้จริง ท่ามกลางสายตาจากทั่วโลกที่กำลังจับจ้องดูว่า ลิเบียจะเจริญรอยตามอิรักหรือไม่ และ มูอัมมาร์ กัดดาฟี จะต้องรับชะตากรรมเดียวกับ ซัดดัม ฮุสเซน หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ