พธม.เตรียมแจกเอกสาร 1 แสนแผ่นค้าน JBC ย่านธุรกิจบ่ายนี้ ก่อนประกาศท่าทีเย็นนี้

ข่าวการเมือง Thursday March 24, 2011 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ในช่วงเย็นวันนี้จะมีความชัดเจนในมาตรการกดดันในการคัดค้านที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่จะมีการการพิจารณาร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับ ในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.)

"เย็นนี้ นายประพันธ์ คูณมี ในฐานะโฆษกการชุมนุม และโฆษกคณะกรรมการ จะเป็นผู้แถลงบนเวทีปราศรัย" นายปานเทพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยเพื่อคัดค้านกรณีที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการการพิจารณาร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับ ได้จัดทำเอกสารเรื่องของบันทึก JBC 3 ฉบับ ขนาด A4 สองหน้า โดยจะพิมพ์เสร็จในช่วงบ่าย จากนั้นจะเชิญชวนผู้ชุมนุมบางส่วนร่วมไปแจกเอกสารในแหล่งที่เป็นย่านธุรกิจ อาทิ สีลมและสยามสแควร์ เป็นต้น โดยจะมีกลุ่มเฟซแพด (facepad) ซึ่งเป็นพันธมิตรฯที่เคลื่อนไหวในสังคมเฟซบุ๊คร่วมในการเผยแพร่เอกสารทั้ง 1 แสนฉบับ

ขณะนี้ไม่เพียงผู้ชุมนุมพันธมิตรฯเท่านั้นที่เห็นถึงปัญหาใหญ่หลวงหากรัฐสภาผ่านร่างบันทึก JBC แต่มีประชาชนที่มีความรู้สึกร่วมกันทั่วประเทศ แต่บางส่วนอาจยังไมรับรู้ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ เราจึงต้องนำเอกสารไปเผยแพร่ให้รับทราบข้อมูลมากขึ้น

ด้านนายประพันธ์ คูณมี ในฐานะโฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักร กล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯจะต้องมีการหารือเพื่อกำหนดมาตรการเคลื่อนไหวที่มีพลังอย่างรอบคอบ เพราะต้องคำนึงถึงการที่รัฐบาลพยายามหาเหตุในการสร้างสถานการณ์และโยนความผิดมาให้ผู้ชุมนุม

"จะอ้างว่าประชาชนจะก่อความวุ่นวายขัดขวางการประชุม ทำให้สมาชิกเขารัฐสภาไม่ได้ ซึ่งเราต้องระมัดระวังและรู้เท่าทันฝ่ายรัฐบาล"

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงภาคประชาชนมีความชอบธรรมในการคัดค้านเรื่องนี้ โดยบริเวณหน้ารัฐสภาก็มีประชาชนเคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่องการสูญเสียดินแดนมีผลต่อประชาชนทั่วประเทศ ดังนั้นการที่ผู้ชุมนุมจะออกมาคัดค้านก็สามารถทำได้

นอกจากนี้ นายปานเทพ ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วาระการประชุมร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.) ได้มีการกำหนดให้การพิจารณาร่างบันทึก JBC 3 ฉบับ อยู่ในวาระที่ 3 ต่อจากวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และวาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุม เป็นความเร่งรีบของรัฐบาลที่ต้องการให้ผ่านการรับรองของรัฐสภาอย่างรวดเร็ว

"ตามปกติวาระที่ 1 และ 2 ของการประชุมใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาทีเท่านั้น แสดงว่ารัฐบาลต้องการให้การรับรองบันทึก JBC 3 ฉบับ เป็นวาระต้นๆ เพราะความเร่งรีบของรัฐบาล อีกทั้งที่ผ่านมาการประชุมร่วมรัฐสภาจะไม่นิยมประชุมในวันศุกร์ เพราะบรรดาผู้แทนจะมีภารกิจในการลงพื้นที่ จึงมักประชุมในวันอังคาร แต่ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเร่งรัดโดยเจตนา"

พร้อมกันนี้ พันธมิตรฯ สนับสนุนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ที่ไม่เห็นด้วยในการให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา รวมทั้งปฏิเสธที่จะไปประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (GBC) ในประเทศที่ 3 ว่า เป็นท่าทีที่มีความชัดเจนที่สุดของ ผบ.ทบ. ทั้งที่ไม่ใช่ประธาน GBC ฝ่ายไทย แสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหารโดยกองทัพบก มีความอึดอัดและเข้าใจปัญหามากขึ้นแล้ว หากปล่อยให้มีทหารอีกประเทศเข้ามาสังเกตการณ์ และเป็นสักขีพยานไม่ให้มีการปะทะกัน คือการหยุดยั้งไม่ให้ฝ่ายไทยใช้กำลังผลักดันกัมพูชาออกจากผืนแผ่นดินไทย ทหารจึงเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ และมีท่าทีของ ผบ.ทบ.ออกมา ทำให้ทางกัมพูชาได้ออกมาตอบโต้ทันทีว่าฝ่ายไทยไม่รักษาสัญญาที่ตกลงกันแล้ว ซึ่งเป็นเพราะรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศที่เดินเกมการเมืองระหว่างประเทศผิดพลาด ไม่ยืนยันเรื่องเส้นเขตแดนในเวทีนานาชาติ ทำให้ฝ่ายกัมพูชารุกคืบนำนานาชาติเข้ามาแทรกแซงเพื่อไม่ให้ทหารไทยทำหน้าที่ผลักดันกัมพูชาออกไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ