นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการการพิจารณาร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับในวันนี้ว่า ในขณะนี้ที่ประชุมยังไม่สามารถเปิดการประชุมได้ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภายังไม่ครบองค์ประชุม แสดงให้เห็นว่าหลายคนเจตนาจะไม่มาเข้าร่วมการประชุมที่ต้องรับรองหรือเห็นชอบบันทึกเจบีซี ซึ่งตลอด 2 วันที่ผ่านมาประชาชนได้ร่วมกันส่งข้อความทางโทรศัพท์ ทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเข้าพบโดยตรงบรรดาผู้แทนเพื่อขอร้องให้ทบทวนการพิจารณาร่างบันทึกเจบีซีนี้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเช้านี้เราได้รับแจ้งจากสมาชิกรัฐสภาทั้งวุฒิสภา ส.ส.ในฝ่ายค้านและรัฐบาลตัดสินใจจะลาประชุม สะท้อนว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้ผล
ขณะนี้ มีนักการเมืองบางส่วนเริ่มลังเล และมีความพยายามลดระดับจากการให้ความเห็นชอบ เหลือเพียงการรับทราบบันทึกทั้ง 3 ฉบับ โดยใช้วิธีตั้งข้อสังเกตแทน ซึ่งในความเป็นจริงหากมีความเห็ฯชอบไปแล้ว ข้อสังเกตใดๆไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการประชุมที่เกิดขึ้นไปแล้ว กัมพูชาสามารถอ้างข้อความที่รัฐสภาไทยให้ความเห็นชอบในเวทีนานาชาติได้ทันทีว่า ฝ่ายไทยโดยรัฐสภาให้ความเดห็ฯชอบบันทึกการประชุมที่ฝายไทยเสียเปรียบ
"ในเมื่อสถานการณ์มีความไม่ชัดเจนสูง และสมาชิกรัฐสภายังมาไม่ครบองค์ประชุม คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยจึงยังไม่ต้องกำหนดท่าทีว่าจะเคลื่อนหรือไม่แต่ประการใด โดยต้องรอดูแนวโน้มของที่ประชุมรัฐสภาเสียก่อน เพราะจุดที่เราชุมนุมห่างจากรัฐสภาไม่มาก หากมีการตัดสินใจเคลื่อนไปจริงก็ไม่ใช่เรื่องที่ช้าหรือเตรียมการณ์ไม่ทันแต่อย่างใด"นายปานเทพ กล่าว
ส่วนกรณีหากที่ประชุมรัฐสภารับรองบันทึก 3 ฉบับไปแล้ว อาจจะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ยาก โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า หากรัฐบาลทำตาม 3 ข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 ถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก และใช้กำลังทหารผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ซึ่งในความเป็นจริงหากรัฐบาลดำเนินการผลักดันกัมพูชาออกไปได้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับก็ไม่มีผลใดๆในทางปฏิบัติ
ด้านนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวเสริมว่า ปัญหาที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถเปิดประชุมได้นั้น เพราะมีความกังวลในเรื่องนี้หลายประเด็น ตั้งแต่การตีความว่าบันทึกการประชุมเจบีซีเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ ทั้งยังมีปัญหาอีกว่าข้อตกลงชั่วคราวระหว่างไทยกับกัมพูชาเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการประชุมทั้ง 3 ฉบับยังระบุถึงการยอมรับให้มีการสำรวจและปักปันดินแดนใหม่ เท่ากับรัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบในสัญญาที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบและเสียดินแดน
ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ตัดสินใจขับเคลื่อนมวลชน เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถประชุมได้ และแม้ประชุมได้ก็อยากให้รัฐสภาลงมติ เพื่อให้รู้ว่าใครบ้างที่เป็นเป้าหมายให้ประชาชนประณามคัดค้าน และที่สำคัญเราได้รับทราบจาก ส.ส.และ ส.ว.ว่าจะไม่ลงมติรับรองบันทึกทั้ง 3 ฉบับ เพราะต้องการให้เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีความจำเป็นต้องร่วมลงมติให้ความเห็นชอบด้วยแต่อย่างใด เพราะไม่เป็นผลดีในทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้ง เพื่อดูว่าการลงมติจะออกมาในทางใด ก่อนกำหนดมาตรการที่ชัดเจนออกมา โดยไม่ได้ไปก่อความวุ่นวายขัดขวางการประชุม ให้รัฐบาลสามารถนำมาเป็นข้ออ้างได้