โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ทำให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเกิดความขัดแย้งกันกรณีเสนอบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(JBC)ไทย-กัมพูชาทั้ง 3 ฉบับให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาลงมติ
"แนวทางนี้เป็นเพียงการแก้เกี้ยว เพราะแท้ที่จริงแล้วสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากไม่เห็นด้วยในการเห็นชอบบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ เนื่องจากเกรงกลัวต่อการกระทำผิดกฎหมาย และเห็นข้อบกพร่องมากมายที่ทำให้กัมพูชาได้เปรียบ หากรัฐสภาผ่านการเห็นชอบบันทึกเจบีซี" นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าว
โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า วาระการประชุมของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันนี้เต็มไปด้วยความสับสน เห็นได้ชัดว่ามีความไม่ลงรอยกันของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐบาลต้องการให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบบันทึกการประชุมเจบีซีและข้อตกลงชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะรับทราบเฉพาะผลการศึกษาของผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นประธานเพียงอย่างเดียว โดยไม่ลงมติเห็นชอบในส่วนบันทึกเจบีซี แต่อ้างว่าจะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทั้งบันทึกเจบีซีและร่างข้อตกลงชั่วคราวเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ตามที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นตีความไว้ก่อนหน้านี้
"กลุ่มพันธมิตรฯ จะติดตามการประชุมในวันนี้อย่างใกล้ชิดว่าสุดท้ายจะจบอย่างไร เพราะวาระการประชุมนี้ยังมั่วอยู่มาก" นายปานเทพ กล่าว
โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า วิธีคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่พยายามเดินหน้าการประชุมเจบีซี และคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนทั่วไป(GBC)ไทย—กัมพูชา ซึ่งกำหนดจะประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ เห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกับแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต่อกรณีการส่งทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทยกับกัมพูชา เพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน ทำให้ฝ่ายทหารรู้สึกอึดอัด เพราะเงื่อนไขในการไม่ปะทะกันทำให้กัมพูชามีสิทธิ์ยึดครองแผ่นดินไทยได้ต่อไปในทางพฤตินัยอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา หรือเป็นการถาวร เนื่องจากการประชุมไม่จบสิ้นเสียที
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าประเทศอินโดนีเซียมีความใกล้ชิดกับกัมพูชาอย่างมาก ทั้งในด้านการทหารและธุรกิจ อีกทั้งประเทศไทยยังเคยส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติที่ร่วมปลดปล่อยประเทศติมอร์จากอินโดนีเซียอีกด้วย
"เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยไม่ควรให้อินโดนีเซียเข้ามาเป็นสักขีพยาน ฝ่ายไทยควรจำกัดเฉพาะการประชุมและการวางกำลังทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาเท่านั้น ชาติอื่นไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว" นายปานเทพ กล่าว
โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า พวกเราคัดค้านบันทึกผลการประชุมครั้งนี้ เพราะรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีเสนอเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190(2) ซึ่งหมายความว่าหากรัฐสภาเห็นชอบ ทำให้รัฐบาลสามารถลงนามเดินหน้าในข้อตกลงชั่วคราว ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ทางสมาชิกรัฐสภาก็เห็นปัญหานี้จึงขอให้แยกร่างข้อตกลงชั่วคราวออกจากบันทึกเจบีซี ทำให้ไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จนความเห็นในที่ประชุมรัฐสภาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
"เมื่อรัฐบาลทำให้เกิดความวุ่นวายและสับสนในที่ประชุมรัฐสภา โดยปกติแล้วรัฐบาลต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะนายกฯ ไปเสนอเงื่อนไขที่รัฐสภาไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้" นายปานเทพ กล่าว