นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ย้ำจุดยืนสถานที่จัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(JBC)ไทย-กัมพูชา ควรมีขึ้นในประเทศไทยหรือกัมพูชา ไม่ใช่ไปจัดประชุมในประเทศที่สาม
"ในขณะนี้ยังเห็นว่าควรจะเป็นอย่างนั้น" นายสุเทพ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องสถานที่จัดประชุมดังกล่าว
นายสุเทพ ยอมรับว่า การเจรจาปัญหาข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นจำเป็นต้องปรับแนวทางการพูดคุยตามสถานการณ์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เป้าหมายสำคัญที่ทั้งสองประเทศจะต้องคำนึงถึงคือ ความอดทน ผ่อนหนักผ่อนเบา เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ไม่เห็นด้วยกับการจัดประชุมดังกล่าวในประเทศอินโดนีเซียนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องแจ้งให้ทางกัมพูชาได้เข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองประเทศได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมต่อเนื่องกันมาอยู่แล้ว ครั้งนี้จะให้ไทยหรือกัมพูชาเป็นเจ้าภาพก็ได้ โดยรัฐบาลไทยยินดีที่จะไปร่วมประชุมหากกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ และบางครั้งก็ต้องมีท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามบ้าง
นายสุเทพ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้คือการนำผลประชุม JBC ครั้งที่ผ่านมาเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาก่อน แต่มีประเด็นปัญหาว่า แค่รับทราบหรือต้องให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เมื่อเป็นประเด็นข้อกฎหมายจึงมีสมาชิกรัฐสภาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในรัฐสภาจึงต้องค้างอยู่ แม้แต่ในส่วนที่เป็นความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ ที่ไปศึกษาบันทึกการประชุม JBC ทั้ง 3 ฉบับ ทางรัฐสภาก็ยังไม่สามารถลงมติได้ว่าจะให้ความเห็นชอบในข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ได้หรือไม่ ซึ่งมีสมาชิกหลายคนไม่เต็มใจ ทำให้ต้องเลื่อนไปพิจารณาในสัปดาห์หน้า
ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนทั่วไป(GBC)ไทย—กัมพูชานั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ที่จริงควรต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป แต่ในสถานการณ์นี้คงต้องใช้เวลาที่จะต้องทำความเข้าใจกับกัมพูชาก่อน ตนเองคิดว่าเวลาจะพูดจาถึงกันควรต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะว่าแนวทางที่จะคลี่คลายได้อยู่ไม่ไกล แต่ถ้าเอาอารมณ์เข้าใส่กันมันก็จะทำให้ยากขึ้น
นายสุเทพ กล่าวว่า ผู้เกี่ยวข้องต้องพยายามทำความเข้าใจกับกัมพูชาต่อไป แม้ท่าทีของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ต้องการให้จัดประชุมดังกล่าวในประเทศที่สาม และพยายามดึงเรื่องเข้าสู่เวทีการประชุมอาเซียนซัมมิท
"อย่าเพิ่งไปตกใจกับท่าที ยังต้องพยายามกันไป การติดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีแบบนี้ ต้องใช้เวลาและความอดทนบ้าง" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า ท่าทีของรัฐบาลและกองทัพในการดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น การที่กัมพูชามีเงื่อนไขว่าจะยอมเจรจาต่อเมื่อมีกองกำลังของประเทศอินโดนีเซียเข้ามาอยู่ในพื้นที่พิพาทเสียก่อนเป็นจุดที่ทางกองทัพติงเอาไว้ เพราะเป็นเรื่องอธิปไตยของประเทศที่มีข้อพิพาทกัน ดังนั้นการเอากองกำลังของชาติอื่นเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง