พธม.ปัดข่าวเว้นวรรคชุมนุม ยันแกนนำไม่มีแตกคอ ชี้คนปล่อยข่าวหวังล้มม็อบ

ข่าวการเมือง Wednesday March 30, 2011 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึง กระแสข่าวที่ว่าพันธมิตรฯ จะเว้นวรรคการชุมนุมว่าเป็นเพียงกระแสข่าวลือ โดยอ้างว่าพันธมิตรฯ อาจจะหยุดการชุมนุมเพราะคนเข้าร่วมน้อย ทั้งที่ไม่มีมูลความจริง เพราะที่ประชุมมีเพียงการออกมาตรการว่าทำอย่างไรถึงจะได้รับชัยชนะจากการชุมนุม ซึ่งผลลัพธ์ที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้ผล มีส่วนทำให้การประชุมของรัฐสภาล่มแล้วล่มอีก

ขณะเดียวกันมีกระบวนการปล่อยข่าวว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ความแตกแยกขัดแย้งกัน ซึ่งขอยืนยันว่าไม่มีการแตกคอกันแน่นอน การพูดคุยเป็นไปด้วยความเข้าใจกันดี

นายปานเทพ ยังปฏิเสธว่าพันธมิตรฯ ไม่เคยสนับสนุนแนวทางที่ให้นายกรัฐมนตรีมาจากกระบวนการอื่นนอกจากการเลือกตั้ง ส่วนการรณรงค์เรื่องโหวตโนนั้นไม่ได้ทำเพื่อประชดนักการเมือง แต่การโหวตโนคือการแสดงอำนาจทางการเมือง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน

โฆษกพันธมิตรฯ ยังชี้แจงถึงแนวคิดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ต่อการเว้นวรรคประเทศ 3-5 ปีว่า เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก และมีโอกาสเกิดสูญญากาศทางการเมือง เมื่อถึงเวลานั้นก็ควรมีหนทางอื่น ซึ่งการเว้นวรรคในประเทศอาจทำได้หลายวิธี เช่น เว้นวรรคไม่ให้มีการเลือกตั้งสักช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้คณะบุคคลอื่นเข้ามาปฏิรูปการเมืองให้มีความหลากหลาย และมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่หากเราไม่มีกลไกให้เกิดสูญญากาศและนำไปสู่การเลือกตั้งก็จะเป็นการรณรงค์โหวตโนให้มากที่สุด

ส่วนกรณีที่นายเทพมนตรี ลิมปพยอม กรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย เปิดเผยข้อมูลผ่าน Facebook ว่าขณะมีขบวนการลอบสังหารนายเทพมนตรี และตัวของนายปานเทพนั้น โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า ได้รับทราบข่าวจากพันธมิตรฯ ที่ทำงานในส่วนความมั่นคง ที่แจ้งว่ามีการวางแผนเพื่อลอบสังหารตนและนายเทพมนตรีเป็นการเฉพาะ ซึ่งเราทั้งคู่ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งกับใครในเรื่องอื่นเป็นการส่วนตัว หากจะมีก็เป็นเรื่องที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคนที่จะทำก็ต้องเป็นคนที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น

นายปานเทพ ยังกล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถลงมติรับทราบหรือรับรองบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ทั้ง 3 ฉบับได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ว่า สมาชิกรัฐสภาหลายคนมีความไม่สบายใจพฤติกรรมของรัฐบาล และความขัดแย้งกันเองภายในพรรคประชาธิปัตย์ จนทำให้องค์ประชุมสภาฯ ไม่ครบในที่สุด

ในส่วนกรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบันทึกการประชุมเจบีซีนั้น โฆษกพันธมิตรฯ มองว่าสามารถออกมาได้เป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 มองตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ และร่างข้อตกลงชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190(2) ในกรณีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ เพื่อหวังให้ร่างข้อตกลงชั่วคราวผ่านรัฐสภา และรัฐบาลสามารถเดินหน้าลงนามมีผลบังคับใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องกลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกครั้ง

ส่วนแนวทางที่ 2 คือวินิจฉัยตามความเห็นของกรรมาธิการรัฐสภา ที่ชี้ว่าร่างข้อตกลงชั่วคราวยังไม่ได้ข้อยุติตามข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศชี้แจง ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190(2) ส่งผลให้ต้องกลับไปเจรจาจนได้ข้อยุติเสียก่อนที่รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบได้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องถอนร่างออกไปก่อน

สำหรับกรณีที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ ออกมาระบุว่า จะเดินหน้าการประชุมระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.ต่อไป แม้รัฐสภาจะไม่พิจารณาเห็นชอบบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับก็ตามนั้น นายปานเทพ กล่าวว่า แสดงให้เห็นถึงความกลับไปกลับมาของรัฐบาล เพราะก่อนหน้าการพิจาณาของรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกมาระบุเองว่าหากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบจะทำให้ไม่สามารถเปิดการประชุมทวิภาคีต่อกันได้ แต่ภายหลังนายชวนนท์กลับออกมาบอกว่าสามารถประชุมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ