นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย แถลงถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องการวินิจฉัยบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับ เนื่องจากศาลพิจารณาว่ายังไม่ถึงขั้นที่ต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และอยู่ในขั้นตอนที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต้องพิจารณาก่อนว่า ทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะติดตามการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 5 เม.ย.นี้ว่ารัฐสภาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากมีหลายฝ่ายคัดค้านตั้งแต่แรกว่าไม่ควรนำผลการประชุม JBC ให้รัฐสภาพิจารณาเพราะไม่ใช่หนังสือสนธิสัญญาสำคัญ ดังนั้นควรถอนวาระการรับรองผลการประชุม JBC ออก และรัฐบาลต้องรับผิดชอบเรื่องนี้
เหตุที่บันทึกเจบีซียังอยู่ในวาระการประชุมรัฐสภาอีกนั้น ก็เป็นเพราะรัฐบาลดื้อรั้น หวังให้ยืมมือรัฐสภารับรองการกระทำของตัวเองที่กำลังทำให้ต้องเสียดินแดนอธิปไตยของประเทศ ที่สุดแล้วเมื่อสมาชิกรัฐสภารู้ว่ารัฐบาลจงใจสอดใส้เข้ามา ทำให้จากสมาชิกรัฐสภาไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงตกอยู่ที่รัฐบาล คณะรัฐบาล และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 เม.ย.หรือวันไหน ไม่มีทางเลือกทางอื่นนอกจากการถอนเรื่องนี้ออกจากวาระการประชุมของรัฐสภาเท่านั้น
“เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ออกมาแล้วว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร การที่จะไปดึงดันต่อไปก็ไม่มีเหตุผล รัฐบาลต้องยอมรับความบกพร่องที่นำบันทึกเจบีซีมาให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งที่รู้ดีไม่เป็นไปกระบวนการขั้นตอน ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยรัฐบาลต้องยอมหน้าแตกถอนวาระนี้ออกไป เพราะเดินหน้าต่อไปก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกรัฐสภา" นายประพันธ์ กล่าว
ส่วนกรณีกระแสข่าวความขัดแย้งภายในแกนนำพันธมิตรฯ นายประพันธ์ กล่าวยอมรับว่า แกนนำพันธมิตรฯ มีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเอกภาพเกี่ยวกับแนวทางการโหวตโนหรือไม่ลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองใด หากมีการเลือกตั้ง โดยได้ส่งต่อความเห็นนี้ไปยังพรรคการเมืองใหม่ เพื่อให้นำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 24 เม.ย.นี้ และหากมีผลออกมาอย่างไร เราก็เคารพ
ที่ผ่านมาพันธมิตรฯและพรรคการเมืองใหม่แยกกันทำตามหน้าที่ในบทบาทของตน โดยพรรคการเมืองใหม่ก็ต้องดำเนินไปตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง แต่ความความสัมพันธ์เกี่ยวข้องนั้นยังดำรงอยู่ เพราะจุดเริ่มต้นของพรรคการเมืองใหม่มาจากฉันทามติของพี่น้องพันธมิตรฯ
“หากพรรคการเมืองใหม่มีมติมติออกมาอย่างไรก็เป็นเรื่องของพรคการเมืองใหม่ เพราะอย่างไรพันธมิตรฯก็จะเดินหน้ารณรงค์โหวตโน ไม่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองใด แม้แต่พรรคการเมืองใหม่เอง" นายประพันธ์ กล่าว