เอแบคโพลล์เผยคะแนนนิยม ปชป.-พท.สูสี,คะแนนเสียงลอยไม่เลือกพรรคใด 32.7%

ข่าวการเมือง Sunday April 3, 2011 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบคโพลล์) เผยผลสำรวจคะแนนนิยมต่อพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งของสาธารณชนที่มีต่อสองพรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่เป็นแกนนำรัฐบาล กับพรรคเพื่อไทย(พท.) ที่เป็นฝ่ายค้าน อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่มีคะแนนเสียงลอยซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่กำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่า

"คะแนนนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคยังคงสูสีกันมาก แต่หากพิจารณาที่ตัวเลขผลสำรวจที่ค้นพบจะเห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 26.4 และพรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 25.5 ซึ่งในทางสถิติไม่ถือว่าแตกต่างกันในการสำรวจครั้งนี้ ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ได้ร้อยละ 15.4" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ ระบุในเอกสารเผยแพร่

หากจำแนกตามเพศ พบว่ากลุ่มตัวอย่างชายร้อยละ 25.7 และหญิงร้อยละ 27.1 เลือกพรรค ปชป. ขณะที่กลุ่มตัวอย่างชายร้อยละ 27.4 และหญิงร้อยละ 23.6 เลือกพรรค พท. อย่างไรก็ตามร้อยละ 33.9 ของกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง และร้อยละ 31.5 ของกลุ่มตัวอย่างผู้ชาย ไม่เลือกพรรคการเมืองใดแต่กำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่า และร้อยละ 15.4 ของทั้งชายและหญิงจะเลือกพรรคการเมืองอื่นๆ

เมื่อจำแนกตามอายุ พบว่า พท.ได้เสียงสนับสนุนมากร้อยละ 27.9 ในกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ขณะที่พรรค ปชป.ได้ร้อยละ 27.7 ในตัวอย่างกลุ่มนี้ และพรรคเพื่อไทยได้เสียงสนับสนุนร้อยละ 27.4 จากคนอายุต่ำกว่า 20 ปี ขณะที่พรรค ปชป.ได้ร้อยละ 24.2

"เมื่อวิเคราะห์ช่วงอายุอื่นๆ แล้วพบว่า พรรคการเมืองทั้งสองพรรคนี้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในวัยต่างๆ ในลักษณะไม่แตกต่างกัน" นายนพดล กล่าว

เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าความแตกต่างในกลุ่มคนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี โดยร้อยละ 28.6 ของคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีจะเลือกพรรค ปชป. แต่ร้อยละ 19.0 จะเลือกพรรค พท. ขณะที่ร้อยละ 27.3 ของคนที่มีการศึกษาปริญญาตรีจะเลือกพรรค ปชป. แต่ร้อยละ 19.6 จะเลือกพรรค พท. ส่วนกลุ่มคนที่ต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 26.4 จะเลือกพรรค ปชป. และร้อยละ 26.3 จะเลือกพรรค พท.

เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบประเด็นที่น่าสนใจคือ พรรค ปชป.กำลังได้ผลตอบแทนจากแนวนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่กลุ่มข้าราชการอย่างมีนัยสำคัญคือ ร้อยละ 24.0 และได้การสนับสนุนมากจากกลุ่มพ่อค้า คือร้อยละ 28.2 ขณะที่กลุ่มเกษตรกรและรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป เสียงสนับสนุนไม่แตกต่างกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์คือร้อยละ 26.7 กับร้อยละ 27.2 แต่ที่น่าจับตามองคือกลุ่มตัวอย่างที่กำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่าสองพรรคนี้ที่มีอยู่มากถึงร้อยละ 41.2 ในกลุ่มข้าราชการ ร้อยละ 33.3 ในกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 32.7 ในกลุ่มนักธุรกิจ พ่อค้า ร้อยละ 31.9 ในกลุ่มนักศึกษา และร้อยละ 31.8 ในกลุ่มเกษตรกรและรับจ้างใช้แรงงานทั่วไปที่จะเป็นกลุ่มที่มีพลังเสียงมากที่สุดและสามารถตัดสินชี้ขาดการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตได้

เมื่อจำแนกตามรายได้ พบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้มากมีสัดส่วนของคนที่จะเลือกพรรค ปชป.มากกว่าพรรค พท. ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่านโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่โดนใจประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างทั่วถึง โดยพบว่า ร้อยละ 27.2 ของคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทจะเลือกพรรค พท. ร้อยละ 24.3 ของกลุ่มนี้จะเลือกพรรค ปชป. ร้อยละ 16.2 จะเลือกพรรคอื่นๆ แต่ร้อยละ 32.3 กำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่า ขณะที่กลุ่มประชาชนที่รายได้สูงขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 30 จะเลือกพรรค ปชป. ประมาณร้อยละ 20 จะเลือกพรรค พท.

และหากจำแนกตามภูมิภาค พบว่า คนภาคใต้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.5 จะเลือกพรรค ปชป. แต่คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 33.0 จะเลือกพรรค พท. โดยทิ้งห่างพรรค ปชป.ที่มีอยู่ร้อยละ 21.0 ขณะที่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 33.2 จะเลือกพรรค พท.ทิ้งห่างพรรค ปชป.เช่นกันที่มีอยู่เพียงร้อยละ 16.6 โดยมีพรรคการเมืองอื่นๆ ได้ร้อยละ 20.8 แต่ในพื้นที่ภาคกลาง พบว่า ร้อยละ 22.5 จะเลือกพรรค ปชป. ร้อยละ 16.3 จะเลือกพรรค พท. ร้อยละ 14.2 จะเลือกพรรคอื่นๆ ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 29.7 จะเลือกพรรคพท. ร้อยละ 24.6 จะเลือกพรรค ปชป.

"ถ้าวันนี้เลือกตั้งกันใหม่จะเห็นได้ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมีนัยสำคัญ แต่ฐานที่แข็งแกร่งของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเป็นพื้นที่ภาคใต้ และเสียงสนับสนุนมากในภาคกลาง โดยมีพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่จะแข่งขันสูงมากระหว่างพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคนี้คือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์มีความหวังมากกว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมจะพบว่า กลุ่มประชาชนที่ยังไม่เลือกพรรคใดและกำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่ามีจำนวนมากและน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศภายหลังการเลือกตั้งถ้าประชาชนเหล่านี้ออกไปใช้สิทธิของตนเอง" นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวว่า ที่ชัดเจนที่สุดที่จะฟันธงได้และไม่น่าจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงนักถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งคือ ประเทศไทยจะได้ “รัฐบาลผสม" โดยจะไม่เกิดรัฐบาลพรรคเดียวอย่างแน่นอน และพรรคการเมืองที่เนื้อหอมเป็นที่ต้องการจะเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะถูกแย่งชิงกันอย่างดุเดือดเข้มข้นในเวทีของการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและการจัดการทรัพยากรของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นการเมืองหลังเลือกตั้งก็จะยังคงเหมือนเดิม เราจะเห็นภาพเดิมๆ ของการวิ่งเต้นจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล การรับประทานอาหารที่โรงแรมหรูหราของพรรคการเมืองต่างๆ ตกลงกันในโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ส่วนความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจและสิทธิต่างๆ ของประชาชนจะยังคงเหมือนเดิม

นายนพดล กล่าวว่า ทางออกคือ ประชาชนทุกคนต้องออกมาเรียกร้องหา"การเปลี่ยนแปลง" จากพรรคการเมืองทุกพรรค อย่างน้อยสามประการคือ ประการแรก พรรคการเมืองต้องทำให้ประชาชน "ไว้วางใจ" หรือ TRUST ว่า ประชาชนทุกคนจะได้รับความเป็นธรรมเหมือนกันในทุกๆ เรื่องของชีวิตอย่างทั่วถึง เช่น การช่วยเหลือจากรัฐบาลในยามเกิดภัยพิบัติ การครอบครองทรัพยากรทางธรรมชาติ ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน การทำมาหากิน การศึกษา และสุขภาพ ประการที่สอง ได้แก่ พรรคการเมืองต้องลดแรงกดดันของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลเฉพาะกลุ่ม และประการที่สาม ได้แก่ พรรคการเมืองต้องทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปตามกฎหมายในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมอย่างจริงจังต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ได้สำรวจความเห็นดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวน 5,212 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 25 มี.ค.-2 เม.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ