ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหายาเสพติด" พบว่า สาเหตุที่ทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดไม่ได้ผลเท่าที่ควร สาเหตุสำคัญ คือ ตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้อง ร้อยละ 57.7 บทลงโทษไม่รุนแรง ร้อยละ 37.4 เจ้าหน้าที่ขาดประสิทธิภาพ ร้อยละ 31.4 ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นแทรกแซง ร้อยละ 27.2 นักการเมืองแทรกแซง ร้อยละ 27 ผลประโยชน์สูง/ล่อใจ รเอยละ 24.5 เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ร้อยละ 19.5 นโยบายไม่ต่อเนื่อง ร้อยละ 17.3 การทุจริต คอรัปชั่น ร้อยละ 15.1 แหล่งผลิตสำคัญอยู่นอกประเทศ ร้อยละ 4.5
ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับระดับการซื้อขายยาเสพติดในสถานที่ต่าง ๆ สถานที่ ในผับ/บาร์ สถานบันเทิงยาม ราตรี มีการซื้อขายยาเสพติดมาก, ในเรือนจำ มีการซื้อขายยาเสพติดมาก, ในชุมชนรอบบ้าน มีการซื้อขายยาเสพติดปานกลาง, ในร้านเกมส์/อินเทอร์เนตคาเฟ่ มีการซื้อขายยาเสพติดปานกลาง, ในสวนสาธารณะ มีการซื้อขายยาเสพติดปานกลาง, ในตลาด มีการซื้อขายยาเสพติดน้อย ในสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย มีการซื้อขายยาเสพติดน้อย, ในห้างสรรพสินค้า มีการซื้อขายยาเสพติดน้อย, ในวัด มีการซื้อขายยาเสพติดน้อย และ อื่น ๆ เช่น ชายแดน สนามแข่งม้า รวมกันมีการซื้อขายยาเสพติดมาก
ส่วนประเด็นนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งประชาชนพึงพอใจนโยบายยุคทักษิณมากกว่า รัฐบาลปัจจุบัน ผศ.พ.ต.ท.ดร. เกษมศานต์ฯ กล่าวว่า ยุคนายกฯทักษิณฯ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ใช้มาตรการปราบปรามนำหน้าการป้องกัน ซึ่งเห็นผลได้ชัดและรวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบัน ใช้นโยบาย 5 รั้ว และมาตรการต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เน้นเชิงป้องกัน ซึ่งจะเห็นผลได้ไม่ชัดเจนและช้า นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ จากปัญหาการเมืองที่รุมเร้ารัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลไม่มีเวลา และสร้างแรงกดเชิงนโยบายส่งผ่านลงมายังผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดได้ไม่มากนัก ซึ่งอาจส่งผลให้มีผลงานออกสู่สายตาประชาชนไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเพิ่มแรงกดเชิงนโยบายและเพิ่มความเข้มข้นจริงจังในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ และเพื่อดึงความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับมาอีกครั้ง
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหายาเสพติด" ระหว่างวันที่ 10 — 12 มีนาคม 2554 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,201 หน่วยตัวอย่าง