นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวถึงกรณีที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมถอนตัวออกจากการเป็นหัวหน้าคณะเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เราได้พูดถึงปัญหาในคณะกรรมการมรดกโลกนั้นมีอยู่จริง จึงเป็นเหตุทำให้นายสุวิทย์ในฐานะผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในการไปเจรจากับคณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินใจลาออก
"ในความเป็นจริงคุณสุวิทย์ได้พยายามถอนตัวมาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก วันที่ 29 ก.ค.53 ที่ประเทศบราซิลนั้น ได้เกิดความขัดแย้งอย่างสูงระหว่างนายสุวิทย์กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายสุวิทย์เห็นว่าในเวลานั้นคณะกรรมการมรดกโลกเตรียมที่จะอนุมัติปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว และเสนอให้ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีมรดกโลก แต่ในที่สุดนายกฯได้สั่งการให้คุณสุวิทย์ลงนามในร่างประนีประนอม 3 ฝ่าย ระหว่างไทย กัมพูชา และคณะกรรมการมรดกโลก ทำให้มีผลผูกพันมาถึงทุกวันนี้ว่าไทยไม่ปฏิเสธในมคิคณะกรมการมรดกโลกก่อนหน้านั้น และพร้อมที่จะเดินหน้าในการตั้งคณะกรรมการ 7 ชาติที่จะมาบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร"
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งที่ 2 เกิดจากการปีนเกลียวกันระหว่างนายสุวิทย์ กับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหลายครั้งนายสุวิทย์ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากมาจากคนละพรรคการเมือง และมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องมรดกโลกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทั้งยังมีความขัดแย้งในกรณีที่นายสุวิทย์พยายามเสนอให้มีการใช้กำลังทหารผลักดันกองกำลังและชุมชนกัมพูชาออกจากพื้นที่ และตรึงอยู่ในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เพื่อไม่ให้กัมพูชาสามารถขออนุมัติแผนบริหารจัดการมรดกโลกได้ รวมทั้งการเสนอให้ตัดการส่งน้ำมันและพลังงานให้แก่กัมพูชาอีกด้วย แต่ไม่ได้รับการตอบสนองแม้แต่น้อย
"หลายปัจจัยเหล่านี้หากคุณสุวิทย์ยังทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้เจรจาต่อไป ก็ต้องเผชิญหน้ากับการเป็นแพะรับบาปจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในปลายเดือน มิ.ย.นี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่คุณสุวิทย์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง"นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวว่า บทบาทของนายสุวิทย์ไม่ได้อยู่ในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย ซึ่งมี นางโสมสุดา ลียะวณิช เป็นประธานฝ่ายไทย แต่นายสุวิทย์ทำหน้าที่ในนามตัวแทนของรัฐบาลไทยที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เพื่อไปบอกกับคณะกรรมการมรดกโลกว่าพื้นที่เขาพระวิหารนั้นมีปัญหา แต่เมื่อตัวแทนรัฐบาลไทยไปลงนามผูกพันในร่างประนีประนอมตามคำสั่งของนายกฯก็มีผลเสียหายอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมมรดกโลก เดือน มิ.ย.นี้ นอกจากนางโสมสุดาที่เป็นตัวแทนฝ่ายไทยแล้ว รัฐบาลก็ควรที่จะส่งตัวแทนของรัฐบาลเข้าร่วมการประชุมด้วย เพื่อยืนยันว่าไม่สามารถอนุมัติแผนบริหารจัดการมรดกโลกได้ และควรดำเนินการตามที่พันธมิตรฯเสนอในการถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกตามที่นายสุวิทย์เสนอไว้ด้วย แต่หากไม่ทำรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง