นายไชยยงค์ รัตนวัน เลขานุการส่วนตัว เปิดเผยว่า ได้รับหมายจากพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตประธานพรรคเพื่อไทย (พท.) ในการแจกจ่ายแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลในการลาออกจากพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่าเกิดปรากฎการณ์ที่ขัดแย้งต่อหลักการและเหตุผล 5 ข้อที่เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยจึงขอลาออก
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ส.ส.พรรคเพื่อไทยคนใกล้ชิด พล.อ.ชวลิต ได้ออกมาชี้แจงว่า คำแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ในนามของพล.อ.ชวลิต และเชื่อว่าพล.อ.ชวลิต จะออกมาแถลงชี้แจงด้วยตัวเองภายใน 2-3 วันนี้
ทั้งนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า แนวทางการเมืองที่ พล.อ.ชวลิต นำมาเป็นเหตุผลในการเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคฯ และดำรงตำแหน่งประธานพรรคฯ นั้นไม่ใช่แนวทางการเมืองที่คิดเอาเองตามอำเภอใจ แต่เป็นแนวทางของประเทศไทย ซึ่งเป็นพระปฐมแห่งบรมมหากษัตราธิราชเจ้าได้ทรงอันเชิญหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นหลักการของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และทรงสถาปนาขึ้นเป็นหลักการปกครองของประเทศในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นคือ ทศพิธราชธรรม
ดังนั้น แนวทางประเทศไทยจึงเหมาะสมกับหลักการปกครองของการปกครองแบบประชาธิปไตย(Principle of government) ไม่เหมาะสมกับการปกครองแบบคอมมิวนิสต์หรือเผด็จการใดๆ ทั้งสิ้น และเหมาะสมกับรูปการปกครองระบบรัฐสภา(Form of Government) ไม่เหมาะสมกับระบบประธานาธิบดี
"ปัญหาของชาติและประชาชนจึงไม่ได้อยู่ที่รูปของประเทศ หรือประมุขของประเทศ หรือรูปการปกครองของประเทศ แต่อยู่ที่การปกครองของประเทศ ที่ยังไม่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ยังคงเป็นเป็นเผด็จการซ่อนรูป" แถลงการณ์ระบุ
แต่ขณะนี้มีบางส่วนในองค์การพรรคและองค์การมวลชนที่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ พล.อ.ชวลิต ได้เสนอความคิดเห็นที่ขัดต่อหลักการทั้ง 5 ข้อ คือ ขัดต่อหลักการแนวทางประเทศไทยอย่างชนิดตรงกันข้าม โดยเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนว่าปัญหาของชาติและประชาชนอยู่ที่ปัญหาบุคคล ไม่ได้มองเห็นปัญหาที่ถูกต้องว่าปัญหาชาติและประชาชนอยู่ที่ปัญหาหลักการหรือปัญหาระบอบ
"องค์การมวลชนทั้งหลายในประเทศไทยก็ทำเป็นแต่ม็อบแต่ทำแม็สหรือติดอาวุธทางปัญญาให้มวลชนไม่เป็น คือ ทำเป็นแต่ปลุกเร้าอารมณ์ร่วมเพื่อเปลี่ยนแต่บุคคล แต่ปลูกฝังทำปัญญาร่วมเปลี่ยนระบอบไม่เป็น องค์การพรรคการเมืองในประเทศไทยทำเป็นแต่การหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.แต่ทำการจัดตั้งสร้างประชาธิปไตยไม่เป็น หรือทำเป็นแต่พรรคของ ส.ส.แต่สร้างพรรคของมวลชนไม่เป็น ส่วนองค์การรัฐทำเป็นแต่การสร้างรัฐธรรมนูญแต่ทำการปกครองเพื่อสร้างประชาธิปไตยไม่เป็น หรือองค์การรัฐทำเป็นแต่บริหารระบอบเผด็จการรัฐสภาแต่เปลี่ยนระบอบเก่าให้เป็นประชาธิปไตยไม่เป็น" แถลงการณ์ ระบุ
องค์การพรรคและองค์การมวลชนในประเทศไทยยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน(Transition Period) จากพรรคของ ส.ส.ยกระดับขึ้นไปเป็นพรรคมวลชน(Mass Party) จากม็อบซึ่งเป็นองค์การปฐมภูมิ(Primary)อันเป็นกลุ่มผลักดันเบื้องต้น ยกระดับขึ้นไปเป็นแม็สซึ่งเป็นองค์การทุติยภูมิ(Secondary)อันเป็นกลุ่มผลักดันระดับสูง(Advance Pressured Group) ซึ่งมีการจัดตั้งอย่างดี(Well Organized)เป็นพลังผลักดันการสร้างประชาธิปไตยที่ดีที่สุดตามแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ของไทยและลักษณะพิเศษแห่งเงื่อนไขของสังคมไทยที่ต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชาติตามแนวทางสันติไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐเพียงอย่างเดียว
"หากองค์การพรรคการเมืองหรือองค์การมวลชนหรือบุคคลใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้ยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางประเทศไทย คือ แนวทางการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ การไม่ยึดถือแนวทางนี้จึงไม่ใช่แนวทางการเมืองที่พลเอกชวลิตยึดถือปฏิบัติ และไม่ใช่องค์การพรรคหรือองค์การมวลชนหรือบุคคลเอกชนที่แสดงเจตจำนงค์ทางการเมืองแทนปวงชนชาวไทยอีกด้วย" แถลงการณ์ ระบุ
ในตอนท้ายของแถลงการณ์ยังระบุว่า พล.อ.ชวลิต ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและราชบัลลังก์ที่เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางประเทศไทยให้สำเร็จเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดให้ทันต่อสถานการณ์และจะเป็นการแก้ปัญหาชาติอย่างยั่งยืน