นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลมอบหมายให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับการทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกของไทยต่อไปนั้น หมายถึงรัฐบาลยอมรับตามข้อเสนอของนายสุวิทย์ และสะท้อนให้เห็นว่าแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศไม่ถูกต้องและผิดพลาดมาโดยตลอด เสี่ยงต่อการทำให้ไทยต้องเสียดินแดน
ทั้งยังเป็นการย้ำว่าสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และภาคประชาชนได้เรียกร้องมาตลอดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นั่นคือการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนหากยอมรับแผนบริหารจัดการมรดกโลกของฝ่ายกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน มิ.ย.นี้ ว่าจะคัดค้านหรือสนับสนุนการอนุมัติให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังนั้นเห็นว่ารัฐบาลควรออกมาแสดงจุดยืนให้ชัดเจน และขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของนายสุวิทย์ ที่ต้องการให้มีการจัดทำหลักเขตแดนให้แล้วเสร็จก่อน จึงค่อยเจรจาแนวทางการขึ้นทะเบียนหรือแผนบริหารจัดการต่อกัน
นายประพันธ์ ยืนยันว่า การถอนตัวจากมรดกโลกของไทยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะนายสุวิทย์ ก็เป็นผู้ยอมรับว่า 21 ประเทศที่เป็นกรรมการมรดกโลกในตอนนี้มีแนวโน้มสนับสนุนกัมพูชาเป็นหลัก ผ่านการล็อบบี้ของบรรดามหาอำนาจที่มีผลประโยชน์กับกัมพูชา ซึ่งจุดนี้จะทำให้ไทยเสียเปรียบในเวทีมรดกโลกทันที หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไม่กระทบเขตแดนไทย ซึ่งไทยคงยากที่จะคัดค้านได้
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่านายวาร์ คิม ฮง ประธานคณะกรรมาธิการเขคแดนร่วม(เจบีซี) ไทย-กัมพูชา แสดงความเห็นต่อกรณีที่รัฐสภาไทยถอนร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับออกจากวาระการประชุมว่าเป็นสิ่งที่ดีที่บันทึกดังกล่าวไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทยนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า น่าแปลกใจ เพราะก่อนหน้านี้กัมพูชาเองทั้งสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายวาร์ คิม ฮง เป็นผู้ออกมากดดันให้รัฐบาลไทยพยายามผลักดันให้บันทึกเจบีซี 3 ฉบับผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วหากต้องการเจรจาในกรอบทวิภาคี แต่เมื่อไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภาไทยกลับออกมาแสดงความยินดี แสดงว่าน่าจะได้รับการชี้แจงจากไทยรัฐบาลที่รับรองว่าแม้ร่างบันทึก 3 ฉบับจะถูกถอนออกมา ก็ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดๆ ตาม MOU ปี 43 จึงทำให้ฝ่ายกัมพูชารู้สึกพอใจ
นายประพันธ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยังยึดแนวทางการดำเนินการเดิมที่ไม่ให้ความสำคัญต่อ 3 ข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ก็ไม่ส่งผลดีต่อปัญหาอยู่แล้ว อีกทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะยังไม่เห็นว่ามีพรรคการเมืองใดนำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นภาคประชาชนจึงเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองขั้วใดได้รับเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาล ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโหวตโน
ส่วนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคการเมืองใหม่วันที่ 24 เม.ย.นั้น ไม่ว่าจะมีมติของที่ประชุมพรรคออกมาอย่างไร กลุ่มพันธมิตรฯ ก็พร้อมจะเคารพมติที่ประชุมฯ แต่เท่าที่รับฟังเบื้องต้นจากแต่ละสาขาพรรค ต่างมีมติเห็นด้วยกับทิศทางของภาคประชาชนที่ต้องการเว้นการเลือกตั้ง 1 สมัย เพื่อให้เกิดการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และพร้อมจะร่วมรณรงค์โหวตโนกับภาคประชาชนด้วย
"ไม่ว่ามติออกมาเป็นอย่างไร เราก็พร้อมที่จะเคารพ และเชื่อว่าไม่มีความขัดแย้งต่อกัน แต่อย่างไรก็ตามพันธมิตรฯ จะเดินหน้ารณรงค์โหวตโน เพื่อเป้าหมายในการปฏิรูปการเมือง เป็นทางออกของวิกฤตในประเทศต่อไป" นายประพันธ์ กล่าว
นายประพันธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กองทัพออกมาแสดงพลังในการปกป้องขบวนการหมิ่นสถาบันว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการที่รัฐบาล, กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่เห็นว่ากองทัพควรร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาชน และภาคประชาสังคมต่างๆ แทนที่จะออกมาสำแดงกำลังเพียงอย่างเดียว เพราะการจัดการปัญหาเรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งทำให้ที่ผ่านมาไม่มีการจัดการปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม