นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา บริเวณปราสาทตาเมือนธม และปารสาทตาควาย ที่ชายแดน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ นั้น ได้รับทราบข้อมูลว่าการปะทะครั้งนี้เกิดขึ้นจากที่ทหารไทยพบว่ากัมพูชาได้สร้างสิ่งปลูกสร้างและเปลี่ยนฐานที่มั่นที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบริเวณด้านทิศตะวันตกของปราสาทตาควาย จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการปะทะกัน เป็นผลทำให้เหตุการณ์รุกลามไปถึงปราสาทตาเมือนธม
โดยทั้ง 2 ปราสาทดังกล่าวอยู่ในเขตดินแดนไทย ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชาไม่มีโอกาสที่จะปะทะกับฝ่ายไทย เนื่องจากมีฐานที่มั่นอยู่ที่ตีนเขาดงรัก จากการปักปันเขตแดนที่แล้วเสร็จระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อ 103 ปีก่อนหรือสนธิสัญญา 1904 และ 1907 ซึ่งยึดขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำ แต่เมื่อมี MOU ปี 43 จึงทำให้ฝ่ายกัมพูชายกเลิกการยึดขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำ และหันมาใช้อ้างอิงแผนที่ 1 : 200,000 โดยพยายามหาสันปันน้ำใหม่ตามหลักวิทยาศาสตร์จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น
นายปานเทพ กล่าวว่า ฝ่ายกัมพูชาสร้างกระเช้าจากตีนเขาดงรักขึ้นมาที่ปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนธม จนเกิดการประจัญหน้ากันระหว่างทหาร 2 ฝ่าย เมื่อฝ่ายกัมพูชามีความคิดที่จะรุกคืบยึดปราสาททั้ง 2 แห่ง จึงได้ขนกำลังทหาร, อาวุธโธปกรณ์ และใช้แผนที่ 1 : 200,000 เป็นเครื่องมือในการรุกรานฝ่ายไทย อีกทั้งยังมีกระบวนการในการสร้างสิ่งปลูกสร้างและฐานทัพที่มั่นคงมากขึ้น จนเป็นเหตุให้มีการปะทะกันในที่สุด
ดังนั้น จึงถือเป็นการพิสูจน์ความจริงได้ว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ใน MOU ปี 43 มีปัญหา และทำให้ประเทศไทยถูกรุกล้ำยึดครองอยู่ ทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการปะทะและทำร้ายราษฎรไทย อย่างไรก็ดี ขอให้กำลังใจทหารไทยในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ และผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย
"เราก็ได้เห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้นว่า MOU ปี 43 ที่ให้การรับรองแผนที่ 1: 200,000 นั้น ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร แต่ยังมีปัญหาบานปลายไปถึงทั้งปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย และพื้นที่ต่างๆ อีก 1.8 ล้านไร่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องทบทวนอย่างเร่งด่วน เดิมทีประชาชนคนไทยไม่เคยต้องอพยพออกจากแผ่นดินไทย แต่ครั้งนี้ถือเป็นการซ้ำรอยจากเหตุปะทะ ที่ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา" นายปานเทพ กล่าว