ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า นายอภิสิทธิ์ ได้รับเสียงโหวตจากประชาชนสูงกว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ เกือบทุกด้านของภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำ ยกเว้นความสำเร็จทางธุรกิจและมีฐานะร่ำรวย ซึ่งการที่ผลสำรวจออกมาเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีโอกาสมากเพียงพอในการแสดงความเป็นผู้นำให้ปรากฏต่อสาธารณชน
โดยประเด็นสำคัญที่ค้นพบคือ เรื่องความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ ร้อยละ 53.7 ระบุเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 9.7 ระบุเป็นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 14.4 ระบุพอๆ กัน และร้อยละ 22.2 ไม่มีความเห็น
เรื่องถัดมาคือ ความสุภาพอ่อนโยน ร้อยละ 50.1 ระบุนายอภิสิทธิ์ ร้อยละ 13.0 ระบุนางสาวยิ่งลักษณ์ ร้อยละ 17.9 ระบุทั้งสอง และร้อยละ 19.0 ไม่มีความเห็น ส่วนเรื่องการเป็นที่ยอมรับภายในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 49.6 ระบุเป็นนายอภิสิทธิ์ ร้อยละ 11.3 ระบุนางสาวยิ่งลักษณ์ ร้อยละ 14.9 ระบุพอๆ กัน และร้อยละ 24.2 ไม่มีความเห็น
นอกจากนี้ เรื่อง การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 49.6 ระบุนายอภิสิทธิ์ ร้อยละ 9.8 ระบุนางสาวยิ่งลักษณ์ ร้อยละ 15.9 ระบุพอๆ กัน และร้อยละ 24.7 ไม่มีความเห็น ด้านความโอบอ้อมอารี ร้อยละ 48.2 ระบุนายอภิสิทธิ์ ร้อยละ 13.1 ระบุนางสาวยิ่งลักษณ์ และร้อยละ 15.1 พอๆ กัน และร้อยละ 23.6 ไม่มีความเห็น
เรื่องรองๆ ลงไปคือ ความเป็นผู้นำ ความรู้ความสามารถ จริยธรรมทางการเมือง วิสัยทัศน์ เสียสละ มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความยุติธรรม กล้าคิดกล้าตัดสินใจ แก้ปัญหาเชิงบริหาร ความขัดแย้งได้ดี รวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหา เป็นภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำที่นายอภิสิทธิ์ มีเสียงโหวตจากประชาชนสูงกว่า นางสาว ยิ่งลักษณ์
แต่เมื่อถามถึงความสำเร็จทางธุรกิจ และมีฐานะร่ำรวย พบว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ร้อยละ 38.5 นายอภิสิทธิ์ ได้ร้อยละ 19.7 ในขณะที่ร้อยละ 18.2 ระบุพอๆ กัน และร้อยละ 23.6 ไม่มีความเห็น โดยถ้านางสาวยิ่งลักษณ์ใช้จุดแข็งนี้ชี้ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนคนไทยได้เพราะผลสำรวจทุกครั้งที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนทั่วไปต้องการผู้นำประเทศที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีในอันดับต้นๆ ก็น่าจะทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ได้รับเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนเพิ่มขึ้นในการสำรวจครั้งต่อไป
นอกจากนี้ ในการสำรวจครั้งนี้ ยังได้ทำการสอบถามสาธารณชนคนไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งพบว่า ประชาชนคนไทยเกือบร้อยละร้อย คือร้อยละ 98.1 เป็นห่วงความปลอดภัยของประชาชนที่อยู่ใกล้ชายแดน โดยไม่คำนึงถึงการแบ่งขั้วแบ่งสีแต่อย่างไร เห็นได้ว่าประชาชนคนไทยเกือบทุกคนรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ และยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ร้อยละ 97.7 ที่อยากให้กำลังใจทหารในการปฏิบัติหน้าที่ ร้อยละ 91.1 มีความหวังที่จะเห็นประเทศไทยกับกัมพูชา เจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งชายแดนร่วมกันด้วยสันติวิธี ร้อยละ 86.9 เป็นห่วงเรื่องการค้าชายแดนจะได้รับผลกระทบ ร้อยละ 57.2 เป็นกังวลว่าความขัดแย้งนี้จะทำให้กระทบต่อการสร้างประชาคมอาเซียน 2015 ร้อยละ 54.3 กังวลว่าไทยจะสูญเสียดินแดนที่เป็นกรณีพิพาท แต่ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 47.3 ไม่กังวลว่า ความขัดแย้งชายแดนไทยกัมพูชาจะทำให้การเลือกตั้งครั้งใหม่เลื่อนออกไป ในขณะที่ร้อยละ 44.8 กังวล และที่เหลือร้อยละ 7.9 ไม่มีความเห็น ตามลำดับ
ทั้งนี้ เอแบคโพลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรปราการ พะเยา พิษณุโลก เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม สกลนคร ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,764 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 23 — 30 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา