กกต.ประชุม 56 พรรคการเมืองวางกรอบการเลือกตั้ง วอนร่วมสร้างสมานฉันท์

ข่าวการเมือง Monday May 2, 2011 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดการประชุมผู้บริหารพรรคการเมือง เพื่อปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างพรรคการเมืองในเรื่องต่างที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น การกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ระเบียบการเลือกตั้ง ข้อควรปฏิบัติ ข้อห้าม ในการเลือกตั้ง เช่น การจัดสถานที่ปิดประกาศ การจัดพิมพ์เอกสาร การหมิ่นสถาบัน โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม 56 พรรค อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรครวมชาติพัฒนา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ พล.ต.ท.ถวิล สุรเชษฐพงษ์ หัวหน้าพรรครักษ์สันติ นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ประธานส.ส.พรรคภูมิใจไทย และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่ปรึกษาพรรคประชาสันติ เป็นต้น

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (2 พ.ค.) ได้มีการประชุมผู้บริหารพรรคการเมือง ซึ่งมีความสำคัญมาก เนื่องจากนายกรัฐมนตรีจะยุบสภาอย่างแน่นอน ดังนั้นกกต.ที่ต้องมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง จึงขอรับฟังความความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆเพื่อนำมาพิจารณาวางกรอบกติกาในการเลือกตั้ง

ทั้งนี้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่มีความสำคัญในระบบรัฐสภา เพราะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐสภาและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องผ่านระบบการเลือกตั้ง แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่ใช่เงื่อนไขชี้วัดสุดท้าย แต่ขณะนี้ถือได้ว่าเป็นกลไกที่ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและเมื่อประชาชนตัดสินใจเลือกบุคคลใดแล้วขอให้ยอมรับ และแม้ทุกพรรคการเมืองจะมีความมุ่งหวังที่จะชนะเลือกตั้ง แต่ขอให้แข่งขันกันโดยปราศจากความรุนแรงใน และต้องการขอความร่วมมือให้พรรคการเมือง และผู้สมัครทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับประชาชน เรื่องของประชาธิปไตยที่ถูกต้องกับประชาชนในวิถีทางประชาธิปไตย

“ผมเห็นว่า ขณะนี้ก็ยังมีการหาเสียงลำบากในบางพื้นที่ที่มีการแข่งขันรุนแรง จึงอยากขอฝากพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองด้วย เพราะท่านจะรู้ว่าใครที่ชื่นชอบ หรือใครเป็นผู้สนับสนุนพวกท่านบ้าง หากมีการชุมนุมก็ขอให้อยู่ในขอบเขตอย่าให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น หากมีลักษณะที่รุนแรงก็ขอให้เข้าไปห้ามปรามกันด้วย เพราะพรรคการเมืองจะช่วยได้อย่างมาก " นายอภิชาต กล่าว

ส่วนกรณีที่มีกระแสว่านายกรัฐมนตรีเสนอให้ กกต.พิจารณาเรื่องการนำสถาบันมาหาเสียงนั้น ที่ผ่านมา กกต.มีการปรับปรุงระเบียบหาเสียงตั้งแต่หลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน และมีการยกร่างระเบียบไว้แล้ว ไม่ได้ดำเนินการเพราะมาจากพรรคการเมืองใด แต่เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี 51 ที่มีผู้สมัครจะขอนำพระบรมราโชวาทพิมพ์เป็นใบหาเสียง แต่กกต. มีมติว่ามิบังควร และระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภากำหนดว่าไม่ควรนำสถาบันเบื้องสูงมากล่าวอ้าง

ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายไม่มีความขัดแย้งเพราะทุกคนไม่ต้องการที่จะให้มีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นมา ดังนั้นการจับมือของพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้นทุกคนจะต้องทำให้เกิดความสมานฉันท์ไม่ให้การเมืองสะดุดลง แม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์บางเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะปฎิบัติได้อยาก แต่ต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อให้เดินไปด้วยกันได้ ไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่จะต้องไม่เกิดการแตกแยก

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า วันนี้ว่า กกต.ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองจำนวน 56 พรรค มาหารือเพื่อให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยประเด็นที่จะหารือในวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 1.5 ล้านบาทต่อคน โดยในวันนี้จะได้หารือเพื่อกำหนดว่าจะปรับเพิ่ม หรือลดลง รวมทั้งเรื่องการนำสถาบันมาใช้ในการหาเสียง และการจัดเวทีกลาง เนื่องจากการจัดเวทีกลางก่อนหน้านี้ที่จัดเขตละ 2 ครั้ง ไม่มีประชาชนมาร่วมรับฟัง ในวันนี้จึงจะขอหารือกับหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เพื่อลดการจัดเวทีกลางให้เหลือเขตเลือกตั้งเพียงเขตละ 1 ครั้ง รวมทั้งขอให้พรรคการเมืองไปตรวจสอบว่าสมาชิกพรรคของตนเองลงทะเบียนสังกัดพรรคกาเมืองเรียบร้อยหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีการตกหล่นของรายชื่อ

ส่วนการเตรียมการเลือกตั้งของ กกต. ก็พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้ง หากนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา ซึ่งหากนายกฯ ประกาศยุบสภาในวันที่ 6 พ.ค. กกต. ก็จะมีห้วงเวลาในการจัดการเลือกตั้ง 2 วัน คือ 26 มิ.ย. และ 3 ก.ค. แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูวันยุบสภาที่แน่นอนก่อน ส่วนจะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น วันนี้ทางศาลรัฐธรรมนูญก็จะพิจารณาว่าจะรับเรื่องไว้ตีความหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ เปลี่ยนแปลงจากเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ ในเวลา 13.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุม โดยมีวาระเรื่องการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หาก ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับผ่านขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญ เหลือเพียงการทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ ลงมาเท่านั้น เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ